เขตประกอบการไออาร์พีซี

จังหวัดระยอง ได้รับการกำหนดบทบาทให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และถูกกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ เป็นศูนย์บริการมาตรฐานการศึกษา และวิจัยด้านเทคโนโลยีและกำหนดให้ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นประตูทางออกให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้อย่างสมบูรณ์ และกำหนดพื้นที่บริเวณมาบตาพุดอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นที่ตั้งสำหรับอุตสาหกรรม 8,000 ไร่ มีท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าที่สามารถรับเรือขนาด 20,000 ตัน 1 ท่า และท่าขนส่งวัสดุเหลวที่สามารถรับเรือขนาด 8,000 ตัน 2 ท่า เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี จังหวัดระยองจึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในส่วนของการลงทุนด้านอุตสาหกรรม นอกจากนี้จังหวัดระยอง ยังได้รับการกำหนดเขตการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้อยู่ในเขต 3 ของการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้เปรียบกว่าจังหวัดปริมณฑลและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ในระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร จึงส่งผลให้จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

จังหวัดระยอง ประกอบด้วย ที่ราบชายฝั่งที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแอ่ง ลุ่มน้ำระยอง และที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นสูงต่ำสลับกันไปรวมกับพื้นที่ทิวเขา ๒ แนว คือทิวเขาชะเมาทางทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๓๕ เมตร และทิวเขาที่อยู่ประมาณกึ่งกลางของตัวจังหวัดเป็นแนวยาวจากอำเภอเมืองขึ้นไปทางเหนือจนสุดเขตจังหวัดเป็นเนินเขาที่เตี้ยกว่าคือ เขาขุนอิน เขาจอมแห เขางวงช้าง ในเขตอำเภอบ้านค่ายและเขาท่าฉุด เขายายตา เขาตะเภาคว่ำ ในเขตอำเภอเมืองระยอง มีแม่น้ำสำคัญ ๒ สาย คือ แม่น้ำระยองยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ไหลผ่านท้องที่อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย อำเภอเมืองระยอง ไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง และแม่น้ำประแสร์ยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากทิวเขาในจังหวัดจันทบุรี ไหลผ่านท้องที่ของอำเภอเขาชะเมา อำเภอ แกลง ลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง แต่หากแบ่งลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดระยองทางกายภาพแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น ๕ ลักษณะ ได้แก่

    1. หาดทรายและสันทราย จังหวัดระยองอยู่ติดทะเลมีหาดทรายและสันทรายเป็นแนวยาว ตามแนวชายฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๓ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความลาดชันต่ำและค่อย ๆ สูงขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ แนวชายหาดเริ่มตั้งแต่อำเภอ บ้านฉางไปสิ้นสุดที่อำเภอแกลง
    2. ที่ลุ่มต่ำและที่ราบเรียบ พบบริเวณทิศใต้ถัดจากแนวสันทรายมาทางทิศเหนือเป็น หย่อม ๆ ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำระยองมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ น้ำทะเลท่วมถึง มีน้ำแช่ขังเกือบตลอดปี ส่วนบริเวณที่ราบเรียบพบตามแนวใกล้ลำน้ำหรือพื้นที่ที่ต่อเนื่องจากที่ลุ่มต่ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเล
    3. ลูกคลื่นลอนลาดและลูกคลื่นลอน มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด ลูกคลื่นลอนชัน และเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ พบในพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากที่ราบเรียบและที่ลุ่มต่ำ มีความลาดชันประมาณร้อยละ ๓-๑๖ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เหลือตกค้างจากการกัดกร่อน
    4. บริเวณที่เป็นเนินเขาและที่ลาดเชิงเขา มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ ติดต่อกันไปหรือเป็นที่ลาดเชิงเขา มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ ๑๖-๓๕ สภาพพื้นที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง มีทั้งที่เป็นพื้นผิวที่เหลือจากการกัดกร่อนและพื้นที่หินดินดานเชิงเขา
    5. ที่สูงชันและมีความลาดชันมากกว่าร้อยละ ๓๕ และมีระดับความสูงจากพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ตั้งแต่ ๑๕๐ เมตรขึ้นไป ส่วนมากพบบริเวณตอนกลางของจังหวัดระยอง

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดระยองในปี 2557 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับปี 2556 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 1,008,615 บาท โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี 874,547 ล้านบาท ซึ่งสาขาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด คือ สาขาอุตสาหกรรม 314,381 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.95 ของสาขาการผลิตทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดระยอง ณ ราคาประจำปี

หน่วย : ล้านบาท

สาขา 2553 2554 2555 2556 2557
ภาคเกษตร 27,363 33,705 27,025 22,660 20,962

เกษตรกรรมการล่าสัตว์และ

การป่าไม้

23,942 29,691 22,523 18,873 16,892
การประมง 3,421 4,014 4,502 3,787 4,070
ภาคนอกเกษตร 688,762 730,853 827,199 883,004 853,585
การทําเหมืองแร่และเหมืองหิน 241,906 274,982 344,687 353,116 349,770
อุตสาหกรรม 311,187 286,181 303,293 346,477 314,381
การไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 40,634 57,254 51,518 48,809 52,570
การก่อสร้าง 6,294 5,440 4,641 6,707 5,800

การขายส่ง การขายปลีกการซ่อมแซมยาน-ยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน

50,067 52,231 52,582 56,467 53,316
โรงแรมและภัตตาคาร 1,747 1,974 2,148 2,430 2,644

การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและ

การคมนาคม

15,261 16,156 16,125 15,312 16,277
ตัวกลางทางการเงิน 4,682 5,417 6,568 7,475 9,622

บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ

5,550 19,093 32,611 33,256 34,385

การบริหารราชการและการ

ป้องกันประเทศรวมทั้งการ ประกันสังคมภาคบังคับ

5,736 6,068 6,370 6,400 7,226
การศึกษา 3,222 3,271 3,404 3,541 3,888
การบริการด้านสุขภาพและสังคม 1,692 1,758 2,050 1,827 2,286

การให้บริการด้านชุมชน สังคม

และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ

640 827 967 1,004 1,133
ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล 146 202 235 183 288

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด

(GPP)

716,125 764,558 854,225 905,664 874,547

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อ

หัว (บาท)

873,241 918,744 1,011,901 1,058,293 1,008,615
จํานวนประชากร (1,000คน) 820 832 844 856 867

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2559)

ทรัพยากรป่าไม้

จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตอุทยานแห่งชาติโดยแยกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 8 แห่ง เนื้อที่ 821.99 ตารางกิโลเมตร หรือ 513,743 ไร่ อุทยานแห่งชาติ2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด พื้นที่ 81,875 ไร่ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง พื้นที่ 42,400 ไร่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 198.84 ตารางกิโลเมตรหรือ 124,275 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พื้นที่ 32,875 ไร่ และสวนรุกขชาติ 2 แห่ง คือ สวนรุกขชาติเพและสวนรุกขชาติหนองสนม จากข้อมูลล่าสุดพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดเหลือประมาณ 313.21 ตารางกิโลเมตร หรือ 195,760 ไร่ ร้อยละ 9 ของพื้นที่จังหวัด ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้ง นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลน ป่าเบญจ-พรรณและป่าละเมาะ การวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ พบว่าเนื้อที่ป่าไม้ลดลงแต่พบว่าเนื้อที่ป่าไม้ที่ลดลงในอัตราที่ลดลง เนื่องจากเนื้อที่ป่าที่เหลืออยู่ในเขตอนุรักษ์และภูเขาสูงชันไม่เหมาะกับการทำเกษตรรวมทั้งการปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ สภาพปัญหาป่าไม้บางส่วนไม่ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเนื่องจากอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองสหกรณ์นิคมและพื้นที่เขาเล็กๆ น้อยๆ ประกอบกับปัจจุบันกฎหมายป่าชุมชนที่มุ่งเน้นให้ประชาชนร่วมจัดการป่าไม้ยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาหากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้คาดว่าจังหวัดระยองจะมีเนื้อที่ป่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันรักษาป่าและการฟื้นฟูป่า

ทรัพยากรน้ำ

จังหวัดระยอง มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่

- แม่น้ำระยองหรือคลองใหญ่ ความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขากองซองและเขาพนมศาสตร์ ซึ่งไหลผ่านตามคลองต่างๆ แล้วมารวมกันเรียกว่าคลองใหญ่และไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง

- แม่น้ำประแสร์ มีต้นกำเนิดจากเขาใหญ่ เขาอ่างฤาไน เขาหินโรง เขาอ่างกระเด็น ไหลมาตามห้วยและคลองต่างๆ หลายสาย เช่น คลองประแสร์ คลองปลิง คลองบ่อทอง ห้วยหินคม คลองเจว็ด คลองตากล้วย คลองชุมแสง คลองไผ่เหนือ-ใต้ คลองตวาด คลองพังหวาย คลองจำกา คลองใช้ คลองแหวน คลองโพล้ คลองทาสีแก้วและคลองหนองเพลง แล้วไหลมารวมกันเรียกว่าแม่น้ำประแสร์ มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร และไหลลงสู่ทะเลที่บ้านปากน้ำ ตำบลปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง

คลอง มีคลองต่างๆ จำนวน 170 คลอง ซึ่งมีน้ำใช้ตลอดปีที่สำคัญ ได้แก่

- คลองดอกกราย มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากเขาซากกล้วยในเขตอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ไหลลงคลองหนองปลาไหลก่อนที่จะบรรจบกับคลองใหญ่

- คลองหนองปลาไหล มีความยาวประมาณ 42 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากเทือกเขาน้ำโจน เขาชมพู่และเขาเรือตกในเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งไหลมาตามห้วยและคลองต่างๆ เช่น คลองระวิง คลองกร่ำ คลองปลวกแดง จังหวัดระยอง ไหลมารวมกันเรียกว่าคลองหนองปลาไหล แล้วไหลลงสู่คลองใหญ่ที่บ้านหัวทุ่ง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย

- คลองโพล้ มีความยาวประมาณ 38 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากเขาชมูน เขาชะเอมและเขาปลายคลองโพล้ ไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ที่บ้านท่ากระชาย อำเภอแกลง

- คลองทับมา มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากเทือกเขาต่างๆ เช่น เขาจอมแหเขาเกตุ เขากระบอก ซึ่งไหลมาตามห้วยและคลองต่างๆ เช่น คลองเขาใหญ่ คลองหนองหล้าและคลองช้างตายไหลมารวมกันเรียกว่าคลองทับมา และไหลลงสู่แม่น้ำระยองที่บ้านเกาะลอย อำเภอเมือง

- คลองระโอก มีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากเทือกเขาชะเมา ซึ่งไหลผ่านมาตามคลองต่างๆ เช่น คลองเขาจุด คลองสะท้องและคลองน้ำเป็น ไหลมารวมกันเรียกว่าคลองระโอก และไหลลงสู่คลองโพล้ที่บ้านเนินสุขสำราญ อำเภอแกลง

แหล่งน้ำใต้ดินของจังหวัดระยองมีคุณภาพปานกลางถึงคุณภาพดี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง และอำเภอวังจันทร์

ทรัพยากรแร่ธาตุ

จังหวัดระยองมีทรัพยากรแร่อยู่หลายชนิด แร่ที่มีปริมาณมากที่สุดคือแร่ทรายแก้ว แร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินแกรนิตเพื่อการก่อสร้าง แร่หินประดับชนิดหินแกรนิต แร่หินประดับชนิดหินไนส์ แร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินไนส์เพื่อการก่อสร้าง แร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อการก่อสร้าง แร่อุตสาหกรรมและแร่เศรษฐกิจอื่นๆที่สำรวจพบได้แก่ แร่ดินขาว แร่เฟลด์สปาร์ แร่วอร์ทช์ แร่ทองคำ นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มแร่ที่หายากสะสมตัวอยู่ตามชายฝั่งและในทะเล ได้แก่ แร่ดีบุก แร่โรมาไซด์ แร่เชอร์คอน แร่ซีโนไทม์ แร่ ลูโคซีน แร่ชิลเมไนท์ แร่รูไทล์ แร่โคชลัมไบท์และแร่แทนทาไลท์

นอกจากนี้ ยังมีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ส่งมายังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จังหวัดระยอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ

การสาธารณสุข

จังหวัดระยอง มีสถานพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลของรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 95 แห่ง คลินิก (ทุกประเภท) 194 แห่ง จำนวนเตียง 2,916 เตียง มีบุคลากรด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย แพทย์ 189 คน ทันตแพทย์ 52 คน เภสัชกร 81 คน และพยาบาล 946 คน อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรจังหวัดระยอง เท่ากับ 1:3,468 คน

การศึกษา

จังหวัดระยอง มีสถานศึกษา 259 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน 218 แห่ง การศึกษาระดับอาชีวศึกษาและเอกชน 31 แห่ง และอยู่ในการดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 9 แห่ง

ประชากร แรงงานและการจ้างงาน และแรงงานต่างด้าว

จังหวัดระยอง มีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้งสิ้น 684,402 คน จำแนกเป็นชาย 336,690 คน หญิง 347,712 คน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรในจังหวัดระยองปี พ.ศ.2557 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1,244,480 คน จำแนกเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 903,428 คน และผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 341,052 คน จากจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน พบว่ามีผู้ว่างงาน จำนวน 13,651 คน และมีแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 29,115 คน

จำนวนกำลังแรงงาน จำแนกตามเพศและสภาพแรงงาน

สถานภาพแรงงาน

จํานวนคน

รวม

ชาย หญิง
ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 365,216 358,299 723,515
1.ผู้อยู่ในกําลังแรงงาน 303,343 239,401 542,745
1.1 ผู้มีงานทํา 300,822 237,113 537,936
1.2 ผู้ว่างงาน 2,521 2,287 4,809
1.3 ผู้รอฤดูกาล - - -
2.ผู้ไม่อยู่ในกําลังแรงงาน 61,872 118,897 180,769

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, http://service.nso.go.th (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2559)

จังหวัดระยอง มีวิสัยทัศน์การพัฒนา 4 ปี พ.ศ. 2557-2560 (ฉบับทบทวน) คือ ประชามีสุข ท่องเที่ยวอนุรักษ์ เกษตรสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมเป็นมิตร สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 30 กลยุทธ์ 798 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 20,020.11 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรให้คล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ปรับปรุงและส่งเสริมการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (environmental Friendly) และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดระยอง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสังคมจังหวัดระยองให้มีความเข้มแข็งและดำรงชีวิตตามหลักปรัชญา

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ส่งเสริม พัฒนา เพิ่มขีดความสามารถภาคพณิชยกรรมและบริการของจังหวัดระยองสู่ความยั่งยืนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยองได้มีการคัดเลือกพื้นที่รอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เพื่อเป็นพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง มีพื้นที่ครอบคลุมเขตการปกครอง 4 ตำบล 1 เทศบาลนคร ได้แก่ ตำบลเชิงเนิน ตำบลตะพง ตำบลบ้านแลง ตำบลนาตาขวัญ และเทศบาลนครระยอง และมีอาณาเขตครอบคลุมเขตประกอบการอุตสาหกรรม 1 เขตประกอบการ คือเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี  มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายรวม 163 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ได้รับการรับการรับรองระบบบริหารงานระดับสากลและระดับประเทศดังตาราง

การวางผังที่ตั้งและการจัดพื้นที่
พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (พื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล 1 เทศบาลนคร ได้แก่

    1.  ตำบลเชิงเนิน
    2.  ตำบลตะพง
    3.  ตำบลบ้านแลง
    4.  ตำบลนาตาขวัญ
    5.  เทศบาลนครระยอง

          เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีขนาดพื้นที่ 5,754 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 1 เทศบาลนคร ได้แก่ ตำบลเชิงเนิน ตำบลพะตง ตำบลบ้านแลง ตำบลนาตาขวัญ และเทศบาลนครระยอง จำนวนชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรม (รัศมี 5 กิโลเมตร) จำนวน 9 ชุมชน (จากชุมชนทั้งหมด 56 ชุมชนของ 4 ตำบล 1เทศบาลนคร) โดยระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ประกอบด้วย

  1.  ถนนและการจราจร ภายในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เป็นถนนประเภท Asphaltic Concrete มีการติดตั้งป้ายเตือนและสัญญาณจราจร ภายในพื้นที่โครงการและบริเวณทางเข้าออกโครงการเพื่อเพิ่มความระมัดระวัง เพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามกฎจราจร
  2. น้ำดิบ แหล่งน้ำดิบที่เขตอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี นำมาผลิตน้ำประปามาจาก 2 แหล่ง คือ
        •  อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่
        •  บ่อน้ำสำรอง 5 บ่อ
  3.  น้ำประปา เขตอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี มีการติดตั้งสถานีสูบน้ำพร้อมโรงกรองน้ำบนพื้นที่16,000 ตารางเมตร บริเวณอำเภอบ้านค่าย มีกำลังการผลิตน้ำประปาได้ประมาณ 2,100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแหล่งน้ำสำรองเตรียมเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นโดยการรองรับน้ำฝนได้ประมาณ 5.21 ล้านลูกบาศก์เมตร
  4.  ไฟฟ้า เขตประกอบอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จะใช้ไฟฟ้าจาก 2 แหล่ง คือ
        •  โรงไฟฟ้าพลังความร้อน ขนากกำลังการผลิต 100 เมกกะวัตต์
        •  โรงงานผลิตไอน้ำและไฟฟ้าร่วม ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 228 เมกกะวัตต์ โดยใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระยองเป็นระบบสำรอง
  5.  ท่าเรือปิโตรเคมีและปิโตรเลียมเหลว (Liquid & Chemical Terminal) หรือท่าเรือ LCTให้บริการถ่ายสินค้าปิโตรเคมี ปิโตรเลียมและก๊าซ ท่าเรือมีความยาวทั้งสิ้น 1,623 เมตร รองรับเรือขนาด1,000-250,000 ตัน โดยมีปริมาณสินค้าผ่านท่า 15 ล้านตันต่อปี และรองรับเรือมากกว่า 2,000 ลำต่อปี
  6.  ท่าเรือคอนเทนเนอร์ และสินค้าทั่วไป (Bulk & Container Terminal) หรือท่าเรือ BCT ท่าเรือมีความยาวทั้งสิ้น 900 เมตร กว้าง 48 เมตร สามารถรองรับเรือขนาด 800-150,000 ให้บริการขนถ่ายสินค้าทั่วไป เช่น เหล็ก กะลาปาล์ม ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น

พื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสิ้น 5,695 ไร่ โดยแบ่งการใช้พื้นที่ดังตาราง

 เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีได้จัดทำโครงการ Protection Strip รอบเขตประกอบการ ซึ่งจัดให้มีพื้นที่สีเขียวหรือคิดเป็นร้อยละ 12.16 ของพื้นที่เขตประกอบการฯทั้งหมด โดยเขตประกอบการฯได้จัดทำแนวกันชนรอบพื้นที่โครงการ โดยปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับพืชคลุมดิน กำหนดให้ปลูกไม้ยืนต้นสลับฟันปลาไม่น้อยกว่า 3 ชั้น และปลูกไม้พุ่มแทรกระหว่างไม้ยืนต้น รายละเอียดการปลูกแนวกันชนดังนี้

      •  แนวกันชนด้านทิศเหนือ พื้นที่ติดกับตำบลบ้านแลง มีระยะกันชนประมาณ 3,140 เมตร
      •  แนวกันชนด้านทิศตะวันออก พื้นที่ติดกับตำบลตะพง มีระยะกันชนประมาณ 1,660 เมตร
      •  แนวกันชนด้านทิศตะวันตก พื้นที่ติดกับตำบลเชิงเนิน มีระยะกันชนประมาณ 2,720 เมตร
      •  แนวกันชนด้านทิศตะวันออกฝั่งใต้ถนนสุขุมวิท พื้นที่ติดกับตำบลตะพง มีระยะกันชนประมาณ 700 เมตร

 

การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ
            ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมภายนอกนิคมอุตสาหกรรมที่มีการออกแบบอาคารหรือระบบภายในอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางการเก็บข้อมูลในอนาคตคือการสำรวจข้อมูลรายโรงงานโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งพิจารณาตามมาตรฐานเกณฑ์อาคารเขียวของประเทศต่างๆ ได้แก่ สถาบันอาคารเขียวไทย LEED TREES และ TEEAM หรืออุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าและแสงสว่างให้เปิดปิดอัตโนมัติตามความต้องการใช้งาน หรือมีพื้นที่ใช้สอยที่รองรับแสงจากธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 20 ของอาคาร

เศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม
            จากข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนภายในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) พบว่ามีเงินทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 163,831 ล้านบาท โดยเงินลงทุนของผู้ประกอบการในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีรวมทั้งสิ้น 153,852 ล้านบาท

 

เศรษฐกิจท้องถิ่น
            ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) มีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วจำนวน 71 แห่ง สมาชิก 1,369 คน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 1 แห่ง สมาชิก 22 คน ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางด้านการตลาด หรือพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพ หรือทักษะแรงงาน แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลในอนาคต คือ การสำรวจข้อมูลจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
            ทั้งนี้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางด้านการตลาด หรือพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพหรือทักษะ แรงงาน ในภาพรวม โดยไม่ได้แบ่งแยกเป็นรายโรงงาน โดยประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก 5 อันดับ ได้แก่ รับจ้าง ทำสวน ค้าขาย รับราชการ และประมง ตามลำดับ ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในครัวเรือนประมาณ 2-5 คน ซึ่งเขตประกอบการอุตสาหกรรมได้มีโครงการส่งเสริมการใช้สินค้าชุมชน (OTOP) ในอุตสาหกรรมรวมถึงการสนับสนุนการจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีมีการจ้างแรงงานทั้งหมด 6,767 คน โดยมีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 5,598 คน คิดเป็นร้อยละ 82.7 ของแรงงานทั้งหมด
             ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลการจ้างแรงงานท้องถิ่น โดยแนวทางการเก็บข้อมูลในอนาคตคือการสำรวจข้อมูลรายโรงงาน ซึ่งแรงงานท้องถิ่น หมายถึงแรงงานที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดที่โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2559 ประชากรในพื้นที่จังหวัดระยองที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.69 เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 555,447 คน ที่ว่างงานทั้งสิ้น 9,410 คน แยกเป็นเพศชาย จำนวน 5,097 คน และเพศหญิง จำนวน 4,313 คน  อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลในระดับพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

การตลาด
           จากข้อมูลองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ได้รับฉลากคาร์บอนและฉลากเขียวซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่ นอกจากนี้เขตประกอบการไออาร์พีซียังมีโครงการส่งเสริมสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยศึกษาและดัดแปลงยางธรรมชาติ และคุณสมบัติสำคัญของยางธรรมชาติด้วยกระบวนการทางเคมีกระบวนการผสมด้วยวิธีต่างๆ มาใช้เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ใช้งาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและไออาร์พีซี ในด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในธุรกิจต่างๆ โดยสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 42

การขนส่งและโลจิสติกส์
          ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานที่มีกิจกรรมหรือมาตรการที่ปลอดภัย ลดต้นทุน หรือเพิ่ม ประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ขององค์กร โดยแนวทางการรวบรวมข้อมูลในอนาคตคือการสำรวจข้อมูลรายโรงงาน
ในระดับจังหวัดมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ซึ่งมีกิจกรรมหรือมาตรการที่ปลอดภัย ลดต้นทุน หรือเพิ่ม ประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ขององค์กร

การจัดการคุณภาพน้ำ

            การจัดการคุณภาพน้ำของเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ซึ่งมีปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดสูงสุดประมาณ 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเขตประกอบการมี 3 แห่ง อยู่ฝั่งใต้ของถนนสุขุมวิท 2 แห่ง และอยู่ฝั่งเหนือของถนนสุขุมวิท 1 แห่ง มีความสามารถรับปริมาณน้ำเสียสูงสุดได้ 3,000 5,769 และ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามลำดับ โดยเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีมีการจัดทำฐานข้อมูลคุณภาพน้ำทิ้ง COD BOD และ TSS ของน้ำทิ้งโรงงานในพื้นที่เขตประกอบการฯ

เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีได้กำหนดเป้าหมายในการลดการใช้น้ำผิวดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยกำหนดการลดการใช้น้ำลงร้อยละ 27 หรือคิดเป็นปริมาณสะสม 6.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ.2559-2563 นอกจากนี้ยังมี ในปี พ.ศ.2559 มีปริมาณการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำ มีปริมาณ 979,477 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 26.8 ของน้ำใช้ทั้งหมด โดยปริมาณน้ำใช้ น้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ และปริมาณน้ำทิ้งของเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2559 ดังตาราง

 จังหวัดระยอง มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำระยอง และแม่น้ำประแสร์ โดยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 พบว่า แม่น้ำระยอง ซึ่งมีจุดตรวจ 6 จุด มีระดับคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างเสื่อมโทรม และเสื่อมโทรม และแม่น้ำประแสร์ ซึ่งมีจุดตรวจ 5 จุด มีระดับคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างเสื่อมโทรม ทั้งนี้ผลการตรวจคุณภาพน้ำคลองสาธารณะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมีจุดตรวจวัด 40 จุด ครอบคลุมคลองสาธารณะจำนวน 15 สาย โดยคุณภาพแหล่งน้ำเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 2 จุดตรวจวัด คิดเป็นร้อยละ 5

 ในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมปริมาณน้ำใช้และน้ำทิ้งภาคอุตสาหกรรมของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (เขตควบคุมมลพิษ) อย่างเป็นระบบ แนวทางในการดำเนินการในอนาคต คือ กำหนดแผนในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวโดยกำหนดผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน รวมถึงมีการติดตามรวบรวมข้อมูลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การควบคุมมลภาวะทางอากาศ
           มีจุดตรวจวัดอากาศ 5 จุดใน จ.ระยอง ได้แก่ 1.สถานีตรวจวัดศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง 2.สถานีตรวจวัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง 3.สถานีศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง 4.สถานีสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมือง 5.สถานีตรวจวัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปลวกแดง 6.คุณภาพอากาศบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดระยอง อ.เมือง จ.ระยองซึ่งผลตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศที่มีนัยสำคัญได้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตควบคุมมลพิษ) โดยแนวทางในการเก็บข้อมูลในอนาคต คือจัดทำแบบสำรวจข้อมูลโรงงาน และ เพื่อพิจารณากำหนดหน่วยงาน/ผู้รับผิดชอบในการสำรวจข้อมูลและแนวทางในการรวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทั้งนี้

          พื้นที่เขตประกอบการไออาร์พีซีมีนโยบายให้โรงงานทุกโรงในเขตประกอบการฯ ดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศที่มีนัยสำคัญให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันทุกโรงงานมีการดำเนินการสอดคล้องตามเกณฑ์ของกฎหมาย 100% ปัจจุบันเขตประกอบการฯอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งวาล์วควบคุมการระบาย และเปลี่ยนช่องระบายอากาศเดิมที่ถังเก็บสารเคมีให้เป็นวาล์วควบคุมการระบาย เพื่อควบคุมความดันของช่องระบายก๊าซ และติดตั้งระบบควบคุมไอระเหย เพื่อควบคุมและลดการระบาย VOCs

การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้
             ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในจังหวัดหรือในท้องถิ่นเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ จากข้อมูลศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ตามรายงานการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ในพื้นที่อำเภอสีเมือง โดยในปี พ.ศ.2559 อำเภอเมืองมีกากของเสียรวม 2,672,347.31 ตัน จำแนกเป็นกากของเสียไม่อันตรายร้อยละ 80.89 และกากของเสียอันตรายร้อยละ 19.01 ทั้งนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยองมีโครงการส่งเสริมให้สถานประกอบการนำของเสียมาใช้ประโยชน์ และการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิล/อัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม นอกจากนี้ในปี 2559 เขตประกอบการไออาร์พีซี มีปริมาณกากของเสียทั้งหมดที่ส่งกำจัด 41,704 ตันและมีการนำกากของเสียกลับมาใช้ใหม่ 23,518 ตัน

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีมีอัตราการเกิดขยะเฉลี่ย 52 ตัน/วัน อัตราการกำจัด 44.31 ตัน/วัน โดยมีการกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ

การจัดการพลังงาน
           จากรายงานสถานการณ์พลังงานจังหวัดระยอง โครงการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์พลังงานระดับกลุ่มจังหวัดตามยุทธศาสตร์ประเทศ กระทรวงพลังงาน พบว่าในปี พ.ศ. 2558 จังหวัดระยองมีการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมรวม 1,178.35 ktoe โดย ในปี 2559 เขตประกอบการไออาร์พีซี มีปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด 50,610,551 กิกะจูล ซึ่งลดลงจากปี 2558 ถึง 756,750 กิกะจูล คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดลงประมาณ 280 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้พลังงานทดแทนของโรงงานอุตสาหกรรม แนวทางในการเก็บข้อมูลในอนาคต คือ พิจารณากำหนดหน่วยงาน/ผู้รับผิดชอบและแนวทางในการรวบรวบจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน

การจัดการเหตุเดือดร้อนรำคาญ
            ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ.2559 พบข้อร้องเรียนด้านเหตุเดือดร้อนรำคาญในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการไออาร์พีซี) จำนวน 6 เรื่อง ในพื้นที่ ต.นาตาขวัญ และ ต.เชิงเนิน โดยมีวิเคราะห์ข้อร้องเรียนและมีการดำเนินการแก้ไขตามมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม และในปี พ.ศ.2559 เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ได้รับข้อร้องเรียนจำนวน 7 เรื่อง ประเด็นกลิ่นและฝุ่นขนาดเล็ก ซึ่งข้อร้องเรียนทั้งหมดได้รับการตรวจสอบหาสาเหตุ ดำเนินการแก้ไข และหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

กระบวนการผลิต
           ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (พื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 15 โรงงาน โรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 3 ขึ้นไป จำนวน 27 โรงงาน

ประสิทธิภาพเชิงนิเวศ
               เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งเขตประกอบการฯได้จัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อจำแนกแหล่งปล่อย ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำแนกจุดปรับปรุง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ

 ฐานข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในส่วนของโรงงานที่จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดทำแผนป้องกันผลกระทบที่จะ เกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) มีโรงงานที่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 30 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 18.2 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่

การจัดการด้านความปลอดภัยและสุขภาพ
ในปี พ.ศ.2559 ในจังหวัดระยอง มีการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 17 ครั้ง

การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม
            เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม มีการจัดเก็บฐานข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในหลายช่องทาง โดยมีเครือข่ายในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ เทศบาลนครระยอง กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลน องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง

 

คุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงาน

              เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีการดำเนินงานตามแนวทางการเป็นที่ทำงานมีสุขในลักษณะภาพรวมโดยมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงาน อาทิ

              การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงาน โดยพนักงานได้รับการอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีการจัดกิจกรรมและพื้นที่สันทนาการสำหรับพนักงาน บอร์ดความรู้ รวมถึงการรวมกลุ่มสันทนาการด้านกีฬาต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกฎหมายแรงงานสภาพการว่าจ้างและการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการเงินช่วยเหลือ เช่น เบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินทดแทน เป็นต้น และยังได้กำหนด

              นโยบายความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน จัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานและประจำปี ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยเบื้องต้น และมีโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตอื่นๆ

              สถาบันการศึกษา มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีไออาร์พีซี เพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับจังหวัดระยอง และได้มีการจัดตั้งโครงการศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายชุมชน (Community Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือกลุ่มอาชีพในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังประกอบด้วยสนามกีฬาเพื่อให้กลุ่มเยาวชนได้ส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ห่างไกลจากยาเสพติดหรืออาจใช้จัดการแข่งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนให้แน่นแฟ้นมากกยิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มวัยทำงานสามารถใช้ศูนย์เป็นสถานที่ในการขวนขวายหาความรู้เพื่อพัฒนาทักษะที่อาจนำไปใช้ในการทำงานหรือประกอบเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว สำหรับผู้สูงอายุสามารถใช้พื้นที่ศูนย์เป็นสถนที่พักผ่อนหย่อนใจ

              สถานพยาบาล มีแพทย์ประจำทำการรักษาพนักงานของบริษัททุกวันจันทร์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพประจำการตลอด 24 ชั่วโมง มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการด้านทันตกรรม ตรวจวัดสายตาให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลพะตง ตำบลเชิงเนิน ตำบลบ้านแลง ตำบลนาตาขวัญ และเทศบาลนครระยอง อำเภอเมือง เป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง

คุณภาพชีวิตและสังคมของคนในท้องถิ่นโดยรอบ
              พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยองมีจำนวนโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW จำนวน 31 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย โดยในพื้นที่เขตประกอบการฯ มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW จำนวน 16 โรงงาน ในปี 2559 ซึ่งเขตประกอบการฯมีโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบเขตประกอบการ เพื่อสร้างรากฐานชีวิตและส่งเสริมความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชน โดยมีผลการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีการต่อยอดโครงการเดิม เช่น

    1.  โครงการ 1 ช่วย 9 โดยเขตประกอบการร่วมกับสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือสถานศึกษา 9 แห่ง ให้พัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาสูงขึ้น
    2.  โครงการคลินิกแพทย์เคลื่อนที่ จัดคลินิกแพทย์เคลื่อนที่ ออกตรวจและให้การรักษาขั้นพื้นฐานแก่ชุมชนรอบเขตประกอบการฯ โดยในปี 2559 มีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 1,081 คน จากการออกให้บริการ 12 ครั้ง
    3.  โครงการคลินิกปันน้ำใจตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประกอบการฯ เพื่อเปิดให้บริการรักษาโรคทั่วไปให้กับประชาชนในพื้นที่รอบเขตประกอบการฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในปี 2559 มีผู้เข้าใช้บริการทั้งสิ้น 4,864 คน

ข้อมูลความพึงพอใจของชุมชนต่อ CSR
เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีการดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW รวมถึงมีการจ้างที่ปรึกษาภายนอกเพื่อทำการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบพื้นที่ (Social Survey) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี พ.ศ.2559 เขตประกอบการฯมีผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนที่ร้อยละ 87.49 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 85

ข้อมูลการเกิดคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ
              ในปี 2559 พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการไออาร์พีซี) มีข้อมูลการเกิดคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญเกิดขึ้น 2 คดี และจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่จังหวัดระยอง ปี 2553 มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 94.9 จากข้อมูลสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระยอง พบว่าในปี 2559 ประชากรจังหวัดระยองที่ประสบสาธารณภัย รวมทั้งสิ้น 2,820 คน ทั้งนี้ไม่มีการรายงานข้อมูลอัตราการอ่านออกเขียนได้และสาธารณภัยในระดับพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม
          ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial town Center) 8 จังหวัด ปี พ.ศ. 2559 มีการแต่งตั้งคณะทำงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในปี พ.ศ.2560 ได้ประสานจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)
เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี มีการบริหารจัดการในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนส่วนเสีย มีการสร้างเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง เขตประกอบการฯ ได้พยายามสร้างสมดุลของความต้องการขององค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งความต้องการเร่งด่วนและความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยกิจกรรมที่แสดงให้เห็นว่ามีการคำนึงหรือรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการโดยการพูดคุย รวมถึงการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ และที่สำคัญคือมีการจัดตั้งคณะกรรมการอันประกอบด้วยตัวแทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาและรักษาระบบบริหารระดับสากล

 

ข้อมูลข่าวสารและการรายงาน
             พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง (เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) มีการจัดทำแผนปฏิบัติการแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง ซึ่งมีข้อแนะนำเรื่องการจัดการความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสารเคมีของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://ecocenter.diw.go.th/ อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลอีกด้วย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,463