จังหวัดราชบุรี

จังหวัดราชบุรี มีตลาดกลางเกษตรจำนวน 2 ที่สามารถระบายสินค้าไปสู่ภาคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีระยะทางระบบการขนส่งที่สะดวก และระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพ (100 กิโลเมตร) และประเทศเพื่อนบ้าน มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และอาหารทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็กเป็นจำนวนมากสามารถรองรับวัตถุดิบด้านการเกษตรในพื้นที่ได้ มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายครอบคลุมทุกประเภท และมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานการส่งเสริมการสร้างคุณค่าและมูลค่าด้านการท่องเที่ยว การบริการ และการผลิต ประชาชนมีฐานะที่เหมาะสม มีงานทำ และมีรายได้เพียงพอ และมีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่ทุกชนเผ่าให้การยอมรับและส่งเสริมการสืบทอดเรื่อยมา

จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางด้านตะวันตกของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 5,196.462 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,247,789 ไร่ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 4 เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

    • ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดกาญจนบุรี
    • ทิศใต้ ติดกับจังหวัดเพชรบุรี
    • ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสงคราม
    • ทิศตะวันตก ติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดราชบุรีในปี 2556 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.94 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 177,569 บาท โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี 142,182 ล้านบาท ซึ่งสาขาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด คือ สาขาอุตสาหกรรม 36,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.67 ของสาขาการผลิตทั้งหมด

ตารางผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดราชบุรี ณ ราคาประจำปี 

หน่วย : ล้านบาท

สาขา 2552 2553 2554 2555 2556
ภาคเกษตร 15,842 17,329 19,581 23,868 27,100
เกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ 15,035 16,520 23,016, 26,077 15,981
การประมง 806 809 851 1,023 156
ภาคนอกเกษตร 126,693 134,945 161,848 163,727 351,434
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 1,481 1,304 1,408 1,277 1,277
อุตสาหกรรม 54,678 60,549 218,050 218,755 248,933
การไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 5,574 6,284 61,504 73,690 73,955
การก่อสร้าง 8,690 8,203 7,996 10,158 8,370
การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน 13,515 14,527 15,219 16,455 17,487
โรงแรมและภัตตาคาร 1,621 1,883 2,190 2,495 2,661
การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม 4,587 4,328 5,108 4,898 4,797
ตัวกลางทางการเงิน 5,614 5,948 6,471 7,419 8,857
บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 8,753 8,150 8,347 8,671 8,508
การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ 6,524 7,499 8,085 8,325 7,837
การศึกษา 13,834 14,845 16,686 18,720 19,685
การบริการด้านสุขภาพและสังคม 3,473 3,940 4,380 5,052 5,288
การให้บริการด้านชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ 1,120 1,086 1,223 1,368 1,478
ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล 422 197 249 440 375
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(GPP) 142,534 152,274 160,935 185,715 190,826
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว  (บาท) 81,571 87,463 92,410 106,652 109,556
จำนวนประชากร (1,000 คน) 1,747 1,741 1,742 1,741

 1,742

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2558)

ทรัพยากรป่าไม้

            จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ 33.79 หรือประมาณ 1,755,790 ตร.กม. จากเนื้อที่ทั้งหมด 5,196,462 ตร.กม. ประกอบด้วยป่า 3 ชนิด คือ 1. ป่าที่ถูกทำลาย (Secondary growth) เป็นพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยโดยชาวกะเหรี่ยงอพยพจากประเทศพม่า เป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกเก่าและเป็นพื้นที่สัมปทานทำไม้ที่ผ่านการทำไม้มาแล้ว จึงไม่ปรากฎต้นไม้ใหญ่เหลืออยู่เลย ปัจจุบันสภาพป่ากำลังฟื้นตัว มีไม้จำพวกสาบเสือ ขี้หนอน และไม้ปอต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น 2. ป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest) พบมากในบริเวณเนินเขาและยอดเขา มีลักษณะเด่น คือ ไม้พื้นล่างประกอบด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ป่า ไผ่รวก ฯลฯ ในบริเวณที่เป็นดินลูกรังมากๆ พบว่ามีไม้ไผ่เป็นไม้เด่นมากกว่าไม้ยืนต้น อื่นๆ ไม้ยืนต้นที่พบได้แก่ สมอตีนเป็ด ตะแบก แคทราย เสลา ประดู่ มะค่าโมง ฯลฯ 3. ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen Forest) พบบริเวณพื้นที่ตีนเขาและร่องเขา มีหวายเป็นไม้พื้นล่างที่สำคัญ พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ คอแลน เพกา สำโรง โพธิ์หิน ข่อย ขี้หนอน มะกา กะดังงาป่า ฯลฯ ไม้เถาที่พบ ได้แก่ รางจืด แสลงพัน บันไดลิง เป็นต้น

 

ทรัพยากรน้ำ

            จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ลุ่มน้ำที่อยู่ในเขตจังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง พื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน และพื้นที่ลุ่มน้ำราชบุรี โดยจังหวัดราชบุรีส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีด้านตะวันออกบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนพี้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 30,837 ตารางกิโลเมตร แม่น้ำสายหลักในลุ่มน้ำนี้คือแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเกิดจากแม่น้ำสาขาที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อย ไหลมาบรรจบกันบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แล้วไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรีลงสู่อ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม รวมความยาว 143 กิโลเมตร มีเขื่อนเก็บกักน้ำจำนวน 2 เขื่อน คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์

 

ทรัพยากรน้ำบาดาล

              จังหวัดราชบุรี มีบ่อน้ำบาดาลในปี พ.ศ.2554 จำนวน 526 บ่อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทอุปโภคบริโภค ธุรกิจ และเกษตรกรรม โดยใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจมากที่สุด

 

ทรัพยากรสัตว์ป่า

            จังหวัดราชบุรี มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวก เก้ง เม่น ชะมด อีเห็น กระรอก กระแต ฯลฯ สัตว์ปีกที่พบ ได้แก่ ไก่ป่าตุ้มหูแกง ไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ ส่วนนกและสัตว์ชนิดอื่นอยู่ในระหว่างการสำรวจ มีสัตว์ป่าสงวนที่หายาก เช่น สมเสร็จ เก้งหม้อ ส่วนใหญ่พบบริเวณตอนล่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เลียงผา พบในบริเวณภูเขาสูงชันทั่วไปของพื้นที่เขตฯ เช่น เขาพุน้ำร้อน เขาจารุณีย์ เขาลำบัวทอง สัตว์อื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กระทิง หมี วัวแดง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดิบแล้งตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เสือ เก้ง กวาง และสัตว์เล็ก ๆ พบกระจายทั่วไปของพื้นที่ สำหรับ นก ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณตอนกลางและตอนล่าง ที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ สามารถพบเห็นนกได้หลายชนิด เช่น นกแก้ว นกแกง นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล นกแซงแซวสวรรค์ นกแก๊ก พบในบริเวณลำห้วยสวนพลู ลำห้วย พุน้ำร้อน นกจาบคาเคราแดง พบในบริเวณเขตฯ แม่น้ำภาชีและหลังสำนักงานเขตฯ แม่น้ำภาชี และนกชนิดอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น จำนวน 186 ชนิด

การสาธารณสุข

           จังหวัดราชบุรี มีสถานพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลในกํากับของรัฐ จํานวน 12 แห่ง โรงพยาบาล/ สถานบริการเอกชน จํานวน 8 แห่ง และสถานีอนามัย 162 แห่ง และมีบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัดภาครัฐและเอกชน แยกเป็น แพทย์รวม 238 คน ทันตแพทย์ รวมทั้งสิ้น 43 คน เภสัชกรรวมทั้งสิ้น 95 คน อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรจังหวัดราชบุรี เท่ากับ 1:3,584 คน

 

การศึกษา

            จังหวัดราชบุรี แบ่งพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็น 2 เขต ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอจอมบึง อำเภอสวนผึ้ง อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลง และอำเภอบ้านคา มีสถานศึกษา รวม จำนวน 182 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอ ดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่ง อำเภอบางแพ และอำเภอโพธาราม มีสถานศึกษารวม จำนวน 193 แห่ง มีสถานศึกษาระดับมัธยม ในจังหวัดราชบุรี จำนวน 26 แห่ง

 

ประชากร

             จังหวัดราชบุรี มีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ทั้งสิ้น 853,217 คน จำแนกเป็นชาย 415,725 คน หญิง 437,492 คน

 จังหวัดราชบุรีมีวิสัยทัศน์การพัฒนา 5 ปี พ.ศ. 2555-2560 (ฉบับทบทวน) คือ ผู้นำเกษตรปลอดภัย มุ่งให้เป็นเมืองน่าอยู่ และใช้ทุนทางปัญญาสร้างรายได้ โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (426 โครงการ งบประมาณ 7.77 พันล้านบาท)

            ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต
            ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเชิงสร้างสรรค์
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาสังคมคุณธรรมและชุมชนเข้มแข็ง
            ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาความอุดมสมบูรณ์และคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นเมืองน่าอยู่
            ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาการบริหารจัดการและเสริมสร้างความมั่นคง

            ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาการบริหารภาครัฐ

คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี ได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี โดยพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมเขตปกครอง 4 ตำบล ใน 1 อำเภอ คือ ตำบลท่าผา ตำบลปากแรต ตำบลบ้านโป่ง และตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง มีโรงงานในพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 231 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ได้รับการรับการรับรองระบบบริหารงานระดับสากลและระดับประเทศดังแสดงในตาราง

การวางผังที่ตั้งและการจัดพื้นที่
              พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล ใน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง ตำบลท่าผา ตำบลปากแรต ตำบลบ้านโป่ง และตำบลเบิกไพร โดยข้อมูลพื้นที่เป้าหมายในอำเภอบ้านโป่ง อยู่ในเขตการปกครอง 4 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

      1.  เทศบาลตำบลบ้านโป่ง
      2.  เทศบาลเมืองท่าผา
      3.  เทศบาลตำบลเบิกไพร
      4.  องค์การบริหารส่วนตำบลปากแรต

 

ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
            ข้อมูลจากแขวงทางหลวงและแขวงทางหลวงชนบทพบว่า ในระดับจังหวัดมีการนำแนวคิดการซ่อมแซมถนนที่ชำรุดโดยวิธี Pavement In-Place Recycling ซึ่งเป็นวิธีการที่นำแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศมาใช้ เนื่องจากเป็นการใช้ความร้อนทำให้ยางละลายหรืออ่อนลง แล้วทำการปรับผิวทางใหม่ โดยใช้วัสดุเดิม ซึ่งมีผลดีคือ ลดการใช้และทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถสร้างกลับขึ้นมาใหม่ได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ ลดการเกิดมลภาวะ จากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานลดการใช้น้ำมันจากการขนส่งทรัพยากรเหล่านั้น อีกทั้งยังลดความต้องการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยบริเวณเส้นทางที่มีการปรับปรุงผิวถนนด้วยวิธีดังกล่าวได้แก่ สายทางรบ.3003 แยกทางหลวงหมายเลข 325 (กม.ที่ 25+500) – บ.พิกุลทอง (ตอนที่ 2) อ.เนินสะดวก และสายทาง รบ.4001 แยกทางหลวงหมายเลข 3206- บ้านหนองโก (ตอนที่2 ) อ.ปากท่อ, เมือง จ.ราชบุรี และนอกจากนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครราชสีมากำหนดในเรื่องการออกแบบสาธารณูปโภคให้มีการนำแนวคิดเชิงนิเวศมาใช้

 

ข้อมูลพื้นที่สีเขียว
            จากการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีหน่วยงานในพื้นที่และจังหวัดที่สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นที่สีเขียวเฉพาะในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ
            ด้านการออกแบบอาคารและ/หรือระบบภายในอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ/หรือประหยัดพลังงาน พบว่าในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 16 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 6.93 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

จำนวนเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย
            จากข้อมูลสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี พบว่ามีจำนวนเงินลงทุนของผู้ประกอบการ (ปี 2557- 2559) รวมทั้งสิ้น 29,198,184,234 บาท

การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชน
          การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนโดยผู้ประกอบการ ยังไม่มีหน่วยงานใดในท้องถิ่นหรือจังหวัดรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ในระดับจังหวัดมีการเปิดตัวบริษัทประชารัฐรักสามัคคีราชบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีสุข โดยการทำงานในรูปแบบของการสานพลังประชารัฐ ประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานราก ช่วยกันแก้ปัญหา และคิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทยผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน และหนึ่งในนั้นคือคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมีเป้าหมายคือเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้น และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีมีการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและ OTOP เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหลักกับชุมชนเพื่อให้เกิดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม, โครงการส่งเสริมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กับชุมชน OTOP/วิสาหกิจชุมชน/กลุ่มเกษตรกร

 

แรงงานในพื้นที่เป้าหมาย
           ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในท้องถิ่นและจังหวัดเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนแรงงานท้องถิ่น/แรงงานทั้งหมด แต่มีการรวบรวมจำนวนแรงงานทั้งหมดในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 16,197 คน
สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือ ส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางด้าน การตลาด หรือพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพ หรือทักษะแรงงาน
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในระดับท้องถิ่นและจังหวัดเก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้จากข้อมูล CSR ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW ซึ่งตามข้อกำหนดให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 4 โรงงาน

 

อัตราการว่างงาน
           จากข้อมูลรายงานสถานการณ์และดัชนีชี้วัดภาวะแรงงานจังหวัดราชบุรี สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี พบว่าประชากรในพื้นที่จังหวัดราชบุรีในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2560 มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.54 ทั้งนี้อัตราการว่างงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยังไม่มีการรายงานเผยแพร่

สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
            ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในท้องถิ่นหรือจังหวัดเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ แต่ทั้งนี้มีการรวบรวมในระดับประเทศโดยมีการมอบรางวัลให้กับผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมสีเขียว

 

กิจกรรมหรือมาตรการที่ปลอดภัย ลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์
             ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ ในปัจจุบัน ระดับจังหวัดมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ซึ่งเป็นโครงการที่คัดเลือกผู้ประกอบการจากทั้งจังหวัดเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ ทั้งด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ลดต้นทุนพลังงาน การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด การบริหารจัดการด้านการเงิน การจัดการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน
           กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีฐานข้อมูลการระบายน้ำของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ที่โรงงานที่เข้าข่ายจะต้องมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน (ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลคุณภาพน้ำทิ้งต่อสาธารณะ

การลดปริมาณน้ำใช้ต่อผลิตภัณฑ์
            สำหรับข้อมูลการลดลงของปริมาณน้ำที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้น้ำในโรงงาน ในการยื่นขอจดประกอบกิจการ และยื่นต่อทะเบียนโรงงาน แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ในส่วนของข้อมูลการลดลงของปริมาณน้ำทิ้งต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีพบว่า ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีจำนวนโรงงานที่มีน้ำทิ้ง 202 โรงงาน มีการระบายออก 102 โรงงาน ปริมาณที่ระบายออกประมาณ 68,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ที่เหลือกักเก็บ/นำกลับใช้ประโยชน์/ส่งบำบัดภายนอก) และรายละเอียดข้อมูลโรงงานในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง ที่มีน้ำทิ้งในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแม่น้ำแม่กลอง แสดงใน

             ซึ่งจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการจัดการน้ำเสียในสถานประกอบการ

คุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะของพื้นที่เป้าหมาย
            พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีมีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน โดยมีสถานีตรวจวัดในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของสำนักงานสิ่งแวดภาคที่ 8 จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 สถานีอยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง มีความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ 4 ครั้งต่อปี โดยสถานีตรวจวัดตั้งอยู่ที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี ซึ่งพบว่า ค่าดัชนีคุณภาพน้ำ (WQI) คือ 77 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี และค่าดัชนีตรวจวัด 5 พารามิเตอร์ (DO, BOD, TCB, FCB, NH3-N) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ประเภทคุณภาพน้ำจัดอยู่ในประเภทที่ 3 ทั้งนี้จุดตรวจวัดอีก 1 จุดคือบริเวณ สะพานวัดลาดบัวขาว ทั้งนี้ข้อมูลไม่ได้ทำการตรวจวัด

คุณภาพอากาศของพื้นที่เป้าหมาย
ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีไม่มีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในพื้นที่ แต่มีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ 2 จุดในจังหวัดราชบุรี บริเวณ ต.หน้าเมือง อ.เมือง และบริเวณศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ที่ 1 ซึ่งผลตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณบริเวณ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จังหวัดราชบุรี ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลผลการตรวจวัดบริเวณศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ที่ 1

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ
          กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำฐานข้อมูลโรงงานที่เข้าข่ายต้องมีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศ ซึ่งต้องมีการรายงานการปล่อยมลพิษทางอากาศ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายโรงงาน ทั้งนี้แผนปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low carbon Industry)

 

ข้อมูลชนิดและปริมาณกากของเสียของพื้นที่เป้าหมาย
          ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ จากตารางที่ 2 15 ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ตามรายงานการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง โดยในปี พ.ศ.2559 อำเภอบ้านโป่ง มีกากของเสียรวม 404,018.89 ตัน จำแนกเป็นกากของเสียไม่อันตรายร้อยละ 97.99 และกากของเสียอันตรายร้อยละ 2.01 ทั้งนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีมีโครงการส่งเสริมให้สถานประกอบการนำของเสียมาใช้ประโยชน์และการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิล/อัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม

ข้อมูลชนิดและปริมาณขยะชุมชุนของพื้นที่เป้าหมาย
         พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรีอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 4 อปท. โดยพบว่า 3 อปท. ไม่มีการจัดเก็บขยะชุมชน และ 3 อปท. มีการจัดเก็บขยะและกำจัดขยะชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่โดยส่งกำจัดที่บริษัทที พี ไอ โพลีน จำกัด

อัตราการใช้พลังงานทดแทน
        ในปี พ.ศ.2558 ในจังหวัดราชบุรี มีการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม 255.52 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)

 

สัดส่วนโรงงานที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการลดการใช้พลังงานหรือเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
         ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 16 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 6.93 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

การจัดการเหตุเดือดร้อนรำคาญ
        ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ.2559 พบข้อร้องเรียนด้านเหตุเดือดร้อนรำคาญในพื้นที่ จ.ราชบุรี 34 เรื่องโดยมีการกำชับให้ระมัดระวังและดำเนินการแก้ไขตามมาตรการ

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
         จากฐานข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดราชบุรียังไม่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ขึ้นไปมีจำนวน 10 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 4.33 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดราชบุรี มีโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมสีเขียว (GI)

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้วัตถุดิบ
         กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงาน ในขั้นตอนการแจ้งจดทะเทียนประกอบกิจการและยื่นต่ออายุใบประกอบกิจการ และโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ 7 จังหวัด มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนี้ในระดับจังหวัดมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI)

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพเชิงนิเวศ
        จากฐานข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดราชบุรียังไม่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดเตรียมฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลทั้งประเทศ และจากฐานข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพบว่าในพื้นที่ไม่มีโรงงานที่ได้รับฉลาดลดคาร์บอน นอกจากนี้แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดราชบุรี มีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้โรงงานมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดทำแผนป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
          ฐานข้อมูลของสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของโรงงานที่จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดทำแผนป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีโรงงานที่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 1 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.43 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย

 

อัตราการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและอัตราการเจ็บป่วยที่รุนแรง
         จากฐานข้อมูลพบว่าในพื้นที่เป้าหมายมีโรงงานประเภทอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงจำนวน 9 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าในปี พ.ศ.2559 พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม

การรั่วไหล และการเกิดอุบัติเหตุของสารเคมีและวัตถุอันตราย ที่ทำให้เกิดผล กระทบต่อพนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดทำข้อมูลบัญชีสารเคมีอันตรายในโรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงและโรงงานที่ต้องขอจัดเก็บสารเคมีอันตราย

 

การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม
          จากฐานข้อมูลของสำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีโรงงานที่มีระบบการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมตามโครงการ GI จำนวน 48 โรงงาน และ EIA Monitoring จำนวน 9 โรงงาน รวม 57 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 24.68 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์ติดตามตรวจสอบและประเมินผลเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 7 จังหวัด มีการจัดตั้งเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวังการดำเนินงานตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดราชบุรี มีโครงการยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) และมีการส่งเสริมและยกระดับการกำกับดูแลโรงงานเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี, โครงการเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม

คุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงาน
         ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินงานตามแนวทางการเป็นที่ทำงานมีสุข (Happy Workplace)

 

การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
          พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีจำนวนโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW จำนวน 4 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 1.73 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดราชบุรี มีการส่งเสริมให้โรงงานเป้าหมายดำเนินการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับสัดส่วนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินงานตามแนวทางการเป็นที่ทำงานมีสุข (Happy Workplace) และข้อมูลความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบที่มีต่อการดำเนินงานด้าน CSR พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในจังหวัดหรือในพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลนี้

 

อัตราการลดลงของการเกิดคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญต่อประชากรรวม
          จำนวนคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญต่อประชากรรวมในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จ.ราชบุรีในปี พ.ศ.2559 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 6 คดี และมีการจับกุมได้ทั้ง 6 คดี

จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายในทรัพย์สินจากภัยพิบัติ
          จากข้อมูลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดราชบุรี พบว่าในปี พ.ศ.2559 พื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีสถิติประชากรที่ประสบภัยธรรมชาติ คือ วาตภัย จำนวน 3 ครั้ง

การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม
        ปี 2559 มีการแต่งตั้งคณะทำงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และในปี 2560 ได้ประสานจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)

 

การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในรูปแบบ ช่องทาง และความถี่ในการสื่อสารในลักษณะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิผล
          ภายใต้โครงการติดตั้งศูนย์ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial town Center) 7 จังหวัด มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยตั้งอยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร ให้คำปรึกษาแนะนำและเปิดเผยข้อมูลของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อีกทั้งยังมีการจัดทำเว็บไซต์ http://ecocenter.diw.go.th/ เพื่อใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์อีกหนึ่งช่องทาง

 

การสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูล การจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และ สารเคมีของโรงงานต่อสาธารณะ
          ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดราชบุรี มีการจัดทำแผนปฏิบัติการแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีข้อแนะนำเรื่องการจัดการความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสารเคมีของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://ecocenter.diw.go.th/ อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลอีกด้วย

 คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ดาวน์โหลดเอกสาร

คณะทำงานเครือข่ายฯ (Eco Network) จ.ราชบุรี

ดาวน์โหลดเอกสาร

คณะขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ดาวน์โหลดเอกสาร
กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,455