จังหวัดชลบุรี

จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางทางค้า การลงทุน และธุรกิจบริการ รวมทั้งมีที่พักโรงแรมขนาดใหญ่เหมาะแก่การจัดประชุมสัมมนาและให้บริการนักท่องเที่ยวมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้มีโอกาสเป็นศูนย์กลางคมนาคม เพื่อการนำเข้าและส่งออกทางทะเลที่สำคัญ รวมทั้งเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งไปสู่ภูมิภาคต่างๆมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและปลอดภัย เช่นไม่อยู่ในเขตแผ่นดินไหวรุนแรง การเกิดคลื่นสึนามิ รวมทั้งไม่มีอุทกภัยและดินถล่มรุนแรงมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทรัพยากรป่าไม้ป่าชายเลน สัตว์ป่า นิเวศบก นิเวศน้ำ นิเวศทะเลมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายที่มีชื่อเสียงระดับโลก (World Class Destination) เช่น พัทยาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด อ้อย ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร

จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 200 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 4,363 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ2,726,875 ไร่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกตามถนนเส้นทางหลวงพิเศษ หมายเลข7 หรือ Motorway (กรุงเทพฯ – ชลบุรี) 79 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

    • ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
    • ทิศใต้ ติดกับจังหวัดระยอง
    • ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง
    • ทิศตะวันตก ติดกับชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชลบุรีในปี 2556 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37 เมื่อเทียบกับปี 2555 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 457,845 โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี 737,077 ล้านบาท ซึ่งสาขาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด คือ สาขาอุตสาหกรรม 384,945 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.08 ของสาขาการผลิตทั้งหมด

ตารางผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชลบุรี ณ ราคาประจำปี 

หน่วย : ล้านบาท

สาขา 2552 2553 2554 2555 2556
ภาคเกษตร 14,424 17,785 21,218 17,660 19,017
เกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ 13,476 16,809 20,126 16,537 18,015
การประมง 948 977 1,091 1,123 1,001
ภาคนอกเกษตร 562,296 602,816 618,733 650,187 718,060
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 2,029 2,124 2,582 2,678 2,881
อุตสาหกรรม 334,656 352,735 353,510 355,322 384,945
การไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 35,373 34,472 35,819 40,590 54,639
การก่อสร้าง 12,103 14,053 14,995 14,658 8,370
การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน 55,038 65,047 66,572 72,562 74,646
โรงแรมและภัตตาคาร 16,169 18,127 20,942 23,272 29,138
การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม 40,817 43,607 43,029 49,731 53,850
ตัวกลางทางการเงิน 11,731 11,600 13,315 15,392 18,655
บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 19,531 22,168 27,474 28,918 27,733
การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ 21,657 24,258 24,786 28,988 32,040
การศึกษา 5,704 5,708 6,491 7,566 7,974
การบริการด้านสุขภาพและสังคม 5,337 6,521 6,767 7,680 7,988
การให้บริการด้านชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ 320 395 261 309 313
ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล 422 197 249 440 375
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(GPP) 576,720 620,601 639,951 667,847 737,077
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว  (บาท) 384,663 399,362 406,865 419,533 457,845
จำนวนประชากร (1,000 คน) 1,499 1,554 1,573 1,592

1,610

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2558)

ทรัพยากรป่าไม้

          จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ป่า 490.40 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 11.24 ของเนื้อที่จังหวัด มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ รวม 9 ป่า เนื้อที่ 906,396 ไร่ หรือร้อยละ 33.23 ของเนื้อที่จังหวัด

ทรัพยากรน้ำ

จังหวัดชลบุรี มีแหล่งน้ำผิวดินแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  • แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำ ลำห้วย ลำธาร ลำคลอง 412 สายใช้งานได้ในฤดูแล้ง 368 สายมีหนองบึง 94 แห่งใช้ได้ในฤดูแล้ง 48 แห่งมีน้ำพุน้ำซับ 1 แห่งใช้ได้ในฤดูแล้งนอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอื่นอีก 94 แห่งใช้งานได้ในฤดูแล้ง 88 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติบนผิวดินส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดในเขตอำเภอพนัสนิคมและอำเภอบ่อทางเช่นคลองเชิดคลองใหญ่คลองหลวงเป็นต้นซึ่งได้ไหลไปบรรจบกันเป็นคลองพานทองแล้วไหลไปทางทิศตะวันตกไปบรรจบกับแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรานอกจากนี้ ยังมีคลองบางพระคลองบางละมุงคลองแพร่งห้วยชากนอกและห้วยใหญ่เป็นต้นสำหรับคลองอื่นๆ ได้แก่ คลองยายดาคลองบางหักคลองบางทิวและคลองบางนาง บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของพื้นที่จังหวัดมีทางน้ำต่างๆ เช่น คลองร่าคลองระเริงคลองปลวกแดงและคลองดอกกรายเป็นต้นไหลมารวมกันเป็นคลองใหญ่ก่อนที่จะไหลมาทางใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองระยองนอกจากนี้จากอำเภอเมืองชลบุรีจนถึงอำเภอสัตหีบยังมีทางน้ำสั้นๆ เล็กๆ ไหลลงสู่อ่าวไทยหลายสายเช่นคลองบางปลาสร้อยคลองบางละมุงคลองห้วยใหญ่และคลองบางเสร่ เป็นต้น
  • แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเนื่องจากจังหวัดชลบุรีไม่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านจึงต้องมีการสร้างแหล่งเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำบางพระอำเภอศรีราชา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดเก็บน้ำได้ประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตรนอกจากนี้ยังมีโครงการชลประทานขนาดเล็กอีกประมาณ 49 แห่ง

ทรัพยากรน้ำบาดาล

จังหวัดชลบุรีจะมีลักษณะของหินอุ้มน้าประเภท Multiple Aquifer คือจะประกอบไปด้วยกรวดทรายทั้งชนิดร่วน (Unconsolidated) และชนิดที่จับกัน (Semi Consolidated) แทรกอยู่ในชั้นดินเหนียวซึ่งบางแห่งจะพบว่ามีชั้นกรวดทรายเป็นแผ่นแทรกอยู่ในชั้นดินเหนียวความหนาของชั้นน้าอยู่ระหว่าง 10 เมตรถึง 200 เมตรเนื่องจากชั้นน้ำมีลักษณะของดินเหนียวมากมายดังนั้นปริมาณน้ำจืดที่สูบได้จึงมีปริมาณน้อยซึ่งมีอัตราการให้น้ำบาดาลได้สูงสุด 10 ลูกบาศก์เมตรคุณภาพน้ำจะเป็นน้ำกร่อยมีปริมาณน้ำใต้ดินอยู่ในพื้นที่กว้างมีน้ำมากและมีคุณภาพดี

ทรัพยากรสัตว์ป่า

จังหวัดชลบุรีมีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ผีเสื้อกลางวัน เป็นต้น

มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 128,812 ไร่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ เนื้อที่ 90,437 ไร่ ป่าเขาอ่างฤาไน เนื้อที่ 38,375 ไร่ มีเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 13,899 ไร่ คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ เนื้อที่ 11,600 ไร่ ป่าเขาชีโอน เนื้อที่ 2,299 ไร่นอกจากนี้ ยังมีวนอุทยาน 1 แห่ง ได้แก่ วนอุทยานน้ำตกเขาเจ้าบ่อทอง เนื้อที่ 19,475 ไร่ พื้นที่ป่าในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1, 2 เนื้อที่ 75,235 ไร่ และพื้นที่อนุรักษ์และป่าชายเลน เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 4,510 ไร่

ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จังหวัดชลบุรีมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ160กิโลเมตรจึงเป็นที่รวมของทรัพยากรอันหลากหลายทั้งป่าชายเลนหาดทรายปะการังความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อกิจกรรมต่างๆเช่นการอุตสาหกรรมการประมงการท่องเที่ยวและการเดินเรือเป็นต้นจึงทำให้จังหวัดชลบุรีมีศักยภาพด้านการผลิตทุกด้านทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรมจึงส่งผลให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้และจากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกนิคมอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่

การสาธารณสุข

จังหวัดชลบุรีมีสถานพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลของรัฐ18แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง สถานีอนามัย 208 แห่งคลินิก (ทุกประเภท) 399 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 15 แห่ง จำนวนเตียง 3,750 เตียง มีบุคลากรด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย แพทย์ 954 คน ทันตแพทย์ 121 คน เภสัชกร 214 คน อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรจังหวัดชลบุรี เท่ากับ 1 : 61,039 คน

การศึกษา

จังหวัดชลบุรี แบ่งพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็น 3 เขต ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบ้านบึง และอำเภอหนองใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอบ่อทอง อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทองและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คืออำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบและในปีการศึกษา 2556 มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและอื่นๆ รวม 82 แห่ง และสำนักงานบริหารงานการศึกษาเอกชน 53 แห่ง รวม 135 แห่ง จำนวนห้องเรียน 2,303 ห้องเรียน ครู 2,968 คน นักเรียนจำนวน 66,535 คน

ประชากร แรงงานและการจ้างงาน และแรงงานต่างด้าว

จังหวัดชลบุรี มีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ทั้งสิ้น 1,364,002 คน จำแนกเป็นชาย 668,744 คน หญิง 695,258 คน

จังหวัดชลบุรี มีวิสัยทัศน์การพัฒนา 4 ปี พ.ศ. 2557-2560 (ฉบับทบทวน) คือ ชลบุรีน่าอยู่คู่เศรษฐกิจชั้นนำ อุตสาหกรรมสะอาด ท่องเที่ยวนานาชาติ ประตูสู่เศรษฐกิจโลก โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ (15 กลยุทธ์ 380 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 12,961.86 ล้านบาท)

        ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างสถาบันครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยเป็นเมืองน่าอยู่
        ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์
        ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบผังเมือง ระบบ Logistics โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด
        ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมสถานประกอบการอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
        ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายได้มาตรฐานสากล และเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
        ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรสู่ระบบการผลิตคุณภาพสูงและพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
        ยุทธศาสตร์ที่ 7 ส่งเสริมการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการภาครัฐ

คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีได้มีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี (พื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบังและเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา) โดยพื้นที่เป้าหมายอยู่ในเขตปกครอง 7 ตำบล 1 อำเภอ ได้แก่ ตำบลเขาคันทรง ตำบลบึง ตำบลศรีราชา ตำบลสุรศักดิ์ ตำบลทุ่งสุขลา ตำบลบ่อวิน และตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา มีโรงงานในพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 1,292 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ได้รับการรับการรับรองระบบบริหารงานระดับสากลและระดับประเทศดังตาราง

ข้อมูลพื้นที่สีเขียว
         สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา มีเนื้อที่ประมาณ 1,800 ไร่ ซึ่งมีการออกแบบและกำหนดพื้นที่สีเขียวภายในสวนอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าระดับกฎหมายกำหนด โดยเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้บุคลากรของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆ ได้
          ทั้งนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี มีโครงการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดทำแนวกันชน (Buffer) และแนวป้องกัน (Protection Strip) ในพื้นที่พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โครงการจัดสรรพื้นที่และก่อสร้างสวนสาธารณะสาหรับชุมชน เทศบาลนครแหลมฉบัง

ข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลน
     จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด 27107.61 ไร่ โดยแบ่งเป็นป่าชายเลนคงสภาพ 4551.71 ไร่ และป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไป 22555.9 ไร่


การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ
      สวนอุตสาหกรรมฯ เครือสหพัฒน์ ยังไม่มีการกำหนดแนวทางหรือระเบียบในด้านการออกแบบอาคารสีเขียวภายในพื้นที่ เนื่องจากโรงงานและอาคารในพื้นที่ส่วนใหญ่ก่อสร้างมานานแล้ว แต่สวนอุตสาหกรรมฯ ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในด้านข้อมูลข่าวสารและโครงการสนับสนุนต่างๆ แก่สถานประกอบการในพื้นที่
      ทั้งนี้มีข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่ามีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 244 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 18.89 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

จำนวนเงินลงทุนของผู้ประกอบการในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
        สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมของเขตเทศบาลนครแหลมฉบังที่มีบทบาทสำคัญต่อจังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออก เนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดของจังหวัดชลบุรีมีการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากที่สุดของจังหวัดชลบุรี และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดในสาขาการผลิตของจังหวัด อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนเกิดขึ้นมากมาย และเกิดการขยายตัวของการให้ของสถาบันการเงินจากส่วนกลาง เช่น ธนาคาร ที่เข้ามาลงทุนเปิดสาขาหลายแห่ง
        โรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือบริษัท สหพัฒน์อิเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากพิจารณาจากผลประกอบการในภาพรวมของบริษัทก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
        จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี พบว่ามีจำนวนเงินลงทุนของผู้ประกอบการ (ปี 2559) รวมทั้งสิ้น 328,645,459,110 บาท

การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชน
      วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดชลบุรีมีจดทะเบียนแล้ว มีจำนวน 346 แห่ง สมาชิก 3,926 คน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 2 แห่ง สมาชิก 18 คน ในด้านการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (ใบรับรองไม่หมดอายุ) จำนวน 110 รายการ
      สำหรับประชากรในพื้นที่โดยรอบสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ภายใต้เทศบาลนครแหลมฉบังและเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย รับจ้างอิสระ ทำไร่ ทำสวน และการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน

ทั้งนี้จากการที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มีการเติบโดและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของประชากรแงเป็นจำนวนมาก ทำให้คนในพื้นที่ที่มีที่ดินได้ลงทุนสร้างห้องแถว หอพัก และอาคารชุดให้เช้าเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดธุรกิจการค้าและบริการที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลมีรายได้ทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

        ทั้งนี้ในระดับจังหวัดมีการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีสุข โดยการทำงานในรูปแบบของการสานพลังประชารัฐ ประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานราก โดยมี 1 เป้าหมาย 3 ด้าน 5 กระบวนการ ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ  ซึ่งมีผู้ถือหุ้น 4,000 หุ้น ประกอบด้วย ภาครัฐ 400 หุ้น ภาคเอกชน 2,000 หุ้น ภาควิชาการ 800 หุ้น ภาคประชาสังคม 600 หุ้น และภาคประชาชน 200 หุ้น จุดมุ่งหมายในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ คือ การเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยยึดความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้งพัฒนา คุณภาพคน เน้นสร้างองค์ความรู้ในระดับชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เงิน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีช่องทาง สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป โดยมีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท คิดเป็น 4,000 หุ้นๆ ละ 1,000 บาท โดยภาคเอกชนในจังหวัดชลบุรี ถือหุ้นรวมกันมากที่สุด จำนวน 2,391 หุ้น ภายใต้แผนงานในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกษตร จะเน้นพัฒนาและส่งเสริมการตลาดให้กับ สับปะรดศรีราชา ข้าว และปลานิล ด้านสินค้าแปรรูป ได้แก่ สับปะรดแปรรูปและจักสานพนัสนิคม และด้านการท่องเที่ยว

          สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีจำนวนแรงงานท้องถิ่นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานทั้งหมด
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดในท้องถิ่นและจังหวัดเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนแรงงานท้องถิ่น/แรงงานทั้งหมด แต่มีการรวบรวมจำนวนแรงงานทั้งหมดในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลแรงงานในสถานประกอบการทั้งหมด (โรงงาน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า)

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือ ส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางด้าน การตลาด หรือพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพ หรือทักษะแรงงาน
         จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า มีโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW ซึ่งตามข้อกำหนดให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากชุมชน หรือ ส่งเสริมกิจกรรมหรือกลุ่มอาชีพให้กับชุมชน จำนวน 26 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 2.01 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการส่งเสริมโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)

อัตราการว่างงาน
        จากข้อมูลรายงานสถานการณ์แรงงานจังหวัดชลบุรี สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี พบว่าประชากรในพื้นที่จังหวัดชลบุรีในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2560 (มกราคม - มีนาคม) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ทั้งนี้อัตราการว่างงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยังไม่มีการรายงานเผยแพร่ และจากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี มีโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย โดยฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานด้านต่างๆ ตามความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่

สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco- Product/Eco-Service) หรือมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม (Green Purchasing) ต่อจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด
         จากข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่า มีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 1 โรงงาน และโรงงานที่ได้รับรองโรงงานฉลากคาร์บอน (Carbon label) จำนวน 1 โรงงาน

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมหรือมาตรการที่ปลอดภัย ลดต้นทุน หรือเพิ่ม ประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ขององค์กร
        ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ ในปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ซึ่งเป็นโครงการที่คัดเลือกผู้ประกอบการจากทั้งจังหวัดเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ ทั้งด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ลดต้นทุนพลังงาน การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด การบริหารจัดการด้านการเงิน การจัดการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ทั้งนี้แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคมขนส่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับประเทศ รองรับ EEC และแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งและยกระดับความปลอดภัย เส้นทางการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมและมวลชน

คุณภาพน้ำทิ้งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
จากการรวบรวมข้อมูล BOD Load และ COD Load ในพื้นที่อำเภอศรีราชา แสดงดังตาราง

สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา มีแนวทางการดำ เนินงานที่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมภายในสวนอุตสาหกรรมฯ และบริเวณรอบสวนอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการน้ำเสียในสวนอุตสาหกรรมฯ โดยใช้ระบบน้ำเสียแบบชีวภาพ ใช้สระเติมอากาศและบึงประดิษฐ์ ระบบบำบัดสามารถรองรับการบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีความพร้อมที่จะขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
          ระบบ Central Waste Water Treatment (ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง) ได้รับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ และรายงานผลการวิเคราะห์ BOD/COD Online ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมฯ โดยการสุ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสียทุกเดือน ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้ง ณ จุดที่ระบายออกผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกรายการ

 

ปริมาณน้ำที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลดลง
         สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา มีการผลิตน้ำประปาและจ่ายให้กับบริษัทและโรงงานในพื้นที่ โดยใช้ระบบ Putsator และกรองทราย โดยรับน้ำดิบจาก บริษัท การจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีกำลังการผลิต 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิต มีการควบคุมและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ โดยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำดิบและคุณภาพน้ำประปาเบื้องต้นทุกวัน และมีผลวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานสวนอุตสาหกรรมทุกเดือน (อ้างอิงมาตรฐานการประปาส่วนภูมิภาค) และการวัดแรงดันปลายทาง วันละ 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบระดับแรงดันจ่ายน้ำไปยังโรงงานในส่วนอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีระดับแรงดันปลายทางมากกว่า 2.5 บาร์ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

 

ปริมาณน้ำทิ้งต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลดลง
          สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา มีระบบบำบัดที่สามารถรองรับการบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีความเพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในสวน โดยผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำทิ้งภาคอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา) แนวทางในการเก็บข้อมูลในอนาคต คือ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อพิจารณากำหนดผู้รับผิดชอบในการสำรวจข้อมูลและแนวทางในการรวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน

 

คุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะ
          พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านเขตพื้นที่ 1 สาย คือ คลองตำหรุ โดยในจังหวัดชลบุรีมีสถานีตรวจวัดของสำนักงานสิ่งแวดภาคที่ 13 จังหวัดชลบุรี จำนวน 1 สถานีอยู่ในอำเภอเมือง มีความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ 4 ครั้งต่อปี ซึ่งคุณภาพน้ำจัดอยู่ในแหล่งน้ำเทียบเคียงประเภทที่ 3 เป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีร้อยละ 10 โดยมีดัชนีวัดที่สำคัญ คือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (DO) ค่าความสกปรกในรูปแบบสารอินทรีย์ (BOD) การปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) การปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (FCB) และปริมาณแอมโมเนียไนโตรเจน NH3-N

คุณภาพอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และชุมชน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
          จากข้อมูลสำนักคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในพื้นที่จำนวน 2 สถานี คือ สถานีสนามกีฬาเทศบาลแหลมฉบัง (32T) และสถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาหิน (33T) ซึ่งจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศปี พ.ศ. 2558-2560 พบว่า คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของ SMEs สาขาภาคการผลิตในภูมิภาคและท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีสะอาด และโครงการส่งเสริมการผลิตที่ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ

 

สัดส่วนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีดำเนินงานตามแนวทางการเป็นที่ทำงานมีสุข (Happy Workplace)
        สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยการจัดเตรียมสวัสดิการที่เป็นไปตามกฎหมายแก่พนักงาน ซึ่งสวนอุตสาหกรรมฯ ได้รับการรับรองระบบการจัดการมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2546) ตั้งแต่ปี 2552 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2557 ได้เป็นสถานประกอบกิจการที่ประกาศแสดงตนเอง มรท.8001-2553 ระดับสมบูรณ์ ที่ผ่านมาการพิจารณาประชาสัมพันธ์ชื่อเว็บไซต์สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
         นอกจากนั้น สวนอุตสาหกรรมฯ ยังส่งเสริมให้บริษัทในพื้นที่ ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน สภาพการว่าจ้างและการคุมครองทางสังคม สวัสดิการและการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้แก่ผู้แทนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมี ความปลอดภัยเบื้องต้นในการดำเนินงาน อีกทั้ง ยังร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อสังคมและเชิญชวนบริษัทและพนักงานในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม เช่น โครงการบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ณ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้กับส่วนรวม และโครงการตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำเดือน เฝ้าระวังภัยด้านสุขภาพให้พนักงานสตรี การให้ความรู้หลักสูตรการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพและการเตรียมตัวคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด เป็นต้น
        สวนอุตสาหกรรมฯ มีการจัดสรรพื้นที่ เพื่อจัดทำสวนสาธารณะ สวนสักการะพระพรหม สนามเด็กเล่นและเครื่องออกกำลังกาย เพื่อให้พนักงานของบริษัทต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมสันทนาการ หรือคิดเป็นพื้นที่สีเขียวร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด

 

การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
       จากฐานข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า มีโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW ซึ่งตามข้อกำหนดให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจำนวน 26 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 2.01 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานในพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลการดำเนินกิจกรรม CSR ที่ไม่ได้เข้าร่วมผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบที่มีต่อการดำเนินงานด้าน CSR
         สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ในการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันของชุมชน โดยในปี 2552 ได้เข้าร่วมและลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมกับชุมชนและสังคมท้องถิ่น โดยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้
มีการจัดทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมากมาย เช่น

    •  การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติให้กับบุตรหลานของพนักงานและเด็กจากชุมชนในพื้นที่โดยรอบ
    •  การจัดกิจกรรมการจัดการขยะชุมชนและการทำน้ำหมักชีวภาพอีเอ็มบอล เพื่อให้ชุมชนได้นำความรู้ไปใช้บำบัดน้ำเสียและแหล่งน้ำธรรมชาติ
    •  โครงการ “คนดี สินค้าดี สังคมดี หลีกหนียาเสพติดสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ สีขาว”เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการโรงงานสีขาว ให้ครบทุกบริษัท

       นอกจากนั้น สวนฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับทราบเรื่องร้องเรียนหรือปัญหาของชุมชน เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น สวนฯ จัดตั้งคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคม เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยังได้รับได้รับเกียรติบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นสถานประกอบการอุตสาหกรรม ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (CSR-DIW) มาตั้งแต่ ปี 2552 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

        อัตราการลดลงของการเกิดคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญต่อประชากรรวม
จำนวนคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญต่อประชากรรวมในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 3 คดี และมีการจับกุมได้ทั้ง 3 คดี

ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติ
จากข้อมูลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี พบว่าในปี พ.ศ.2559 ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีประชากรที่ประสบสาธารณภัยจำนวน 3 คน

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศที่มีนัยสำคัญได้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
         มีฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษในโรงงาน ในการยื่นขอจดประกอบกิจการ และยื่นต่อทะเบียนโรงงาน รวมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลมลพิษทางอากาศของโรงงานที่เข้าข่ายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ.2550 และแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการยกระดับการกำกับดูแลโรงงานเพื่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่ดี โดยมีกิจกรรมการตรวจประเมินและป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ (อากาศและการจัดการของเสีย)

 

การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้
การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ที่เกิดขึ้นในสวนอุตสาหกรรมฯ จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ

    1.  ขยะที่ไม่เป็นอันตราย และเศษขยะจากการตัดแต่งต้นไม้ภายในสวนอุตสาหกรรมฯ ดำเนินการโดยว่าจ้างผู้รับเหมาดำเนินการและนำไปกำจัดโดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และตะกอนน้ำเสียที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียของสวนอุตสาหกรรมฯ จะนำไปทำอิฐประสานเพื่อนำมาใช้ในการจัดแต่งพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมฯ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งตะกอนไปกำจัด
    2.  กากของเสียอันตราย โรงงานแต่ละแห่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาดำเนินการและนำไปกำจัดโดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการรายงานและขออนุญาตต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง

 

อัตราการนำกากของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่
         จากข้อมูลศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ตามรายงานการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ในพื้นที่อำเภอศรีราชา โดยในปี 2559 มีกากของเสียรวม 5,081,195.26 ตัน จำแนกเป็นกากของเสียไม่อันตรายร้อยละ 95.90 และกากของเสียอันตรายร้อยละ 4.10 ทั้งนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการส่งเสริมให้สถานประกอบการนำของเสียมาใช้ประโยชน์และการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิล/อัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม

อัตราการกำจัดขยะชุมชน
         จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2559 กรมควบคุมมลพิษ พบว่าพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บขยะและกำจัดขยะชุมชน โดยวิธีฝังกลบ (landfill) และวิธีฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary landfill) ทั้งนี้จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการส่งเสริมการคัดแยกและจัดการขยะชุมชน โครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตรายจากชุมชน และโครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะชุมชน

อัตราการใช้พลังงานทดแทน
          บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการใช้และการจัดการพลังงานและดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยในปี 2555 สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ได้เข้าร่วม "โครงการตรวจประเมินเพื่อรับรองระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System) ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียวปีงบประมาณ พ.ศ. 2555" ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับใบมอบเกียรติบัตร และพัฒนาการบริหารจัดการพลังงานในขอบข่ายการใช้พลังงานของระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางจนกระทั่งในปี 2556 ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 : 2011 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
          ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การใช้พลังงาน พ.ศ.2558 ในจังหวัดชลบุรี พบว่า ในปีมีการใช้พลังงานรวมของภาคอุตสาหกรรม เท่ากับ 785.62 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) การใช้พลังงานใหม่และหมุนเวียนภาคอุตสาหกรรม เท่ากับ 59.86 ตัน (tons)
          ทั้งนี้ในพื้นที่เขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา) ไม่มีการใช้พลังงานทดแทน

 

สัดส่วนโรงงานที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการลดการใช้พลังงานหรือเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
           ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่ามีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 244 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 18.89 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ 8 จังหวัด มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้พลังงาน (mass balance) ในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย

การตอบสนองต่อข้อร้องเรียนด้านเหตุเดือดร้อนรำคาญ
          ในรอบปีงบประมาณไม่พบข้อร้องเรียนด้านเหตุเดือดร้อนรำคาญในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Process) หรือได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)
          จากฐานข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี พบว่ามีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 1 โรงงาน และโรงงานได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ขึ้นไป จำนวน 142 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 10.9 และแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการมีการส่งเสริมให้เกิดโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้วัตถุดิบ
          กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงาน ในขั้นตอนการแจ้งจดทะเทียนประกอบกิจการและยื่นต่ออายุใบประกอบกิจการ รวมทั้งโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ 8 จังหวัด มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงาน และในระดับจังหวัดมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI)

 

สัดส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco Efficiency) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้น้ำ พลังงาน ปริมาณน้ำทิ้ง กากของเสียและวัสดุเหลือใช้
          จากฐานข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรี พบว่ามีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 1 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.01 และแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดชลบุรีมีโครงการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมจัดทำฐานข้อมูลประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco Efficiency) เพื่อใช้วางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรม

คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ดาวน์โหลดเอกสาร

คณะขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ดาวน์โหลดเอกสาร

เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่คณะทำงานขับเคลื่อนฯ จ.ชลบุรี

ดาวน์โหลดเอกสาร
กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,471