จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดปริมณฑล ส่งผลให้การคมนาคมและการขนส่งสะดวก มีทรัพยากรดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร โดยมีแม่น้ำต้นทุนสายหลัก คือ แม่น้ำท่าจีน ระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด อีกทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นระดับประเทศ เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค โดยมีสถาบันการศึกษาทุกระดับ มีมหาวิทยาลัยชั้นนำอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดนครปฐมถูกจัดให้เป็นฐานในการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปขนาใหญ่รองรับวัตถุดิบในพื้นที่และมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยม
จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่ในภาคกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 2,168.327 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,355,204 ไร่ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออก ตามถนนเพชรเกษม เป็นระยะทาง 56 กิโลเมตร หรือตามเส้นทาง ถนนบรมราชชนนี (ถนนปิ่นเกล้า–นครชัยศรี) 51 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
-
- ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสุพรรณบุรี
- ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดราชบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนนทบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนครปฐมในปี 2556 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับปี 2555 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 223,003 บาท โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี 223,244 ล้านบาท ซึ่งสาขาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด คือ สาขาอุตสาหกรรม 120,446 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.95 ของสาขาการผลิตทั้งหมด
ตารางผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดราชสีมา ณ ราคาประจำปี
หน่วย : ล้านบาท
สาขา | 2552 | 2553 | 2554 | 2555 | 2556 |
ภาคเกษตร | 15,972 | 15,411 | 16,780 | 19,078 | 21,216 |
เกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ | 14,463 | 13,922 | 15,069 | 17,341 | 19,575 |
การประมง | 1,509 | 1,489 | 1,711 | 1,737 | 1,641 |
ภาคนอกเกษตร | 135,276 | 152,132 | 171,299 | 199,357 | 202,028 |
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน | 1,285 | 1,431 | 1,967 | 2,571 | 2,524 |
อุตสาหกรรม | 66,774 | 80,788 | 98,690 | 122,602 | 120,446 |
การไฟฟ้า แก๊ส และการประปา | 4,161 | 4,511 | 4,595 | 5,118 | 5,596 |
การก่อสร้าง | 4,425 | 5,321 | 4,989 | 6,433 | 7,144 |
การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยาน-ยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน | 18,761 | 20,282 | 19,871 | 21,706 | 23,978 |
โรงแรมและภัตตาคาร | 3,340 | 3,624 | 3,507 | 1,007 | 1,209 |
การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม | 5,147 | 5,207 | 5,305 | 6,157 | 6,109 |
ตัวกลางทางการเงิน | 5,603 | 5,587 | 6,253 | 7,192 | 8,300 |
บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ | 6,688 | 6,700 | 7,351 | 7,879 | 8,519 |
การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ | 6,864 | 6,443 | 7,130 | 7,254 | 6,693 |
การศึกษา | 8,633 | 8,489 | 7,736 | 7,208 | 6,994 |
การบริการด้านสุขภาพและสังคม | 2,251 | 2,470 | 2,564 | 2,702 | 2,807 |
การให้บริการด้านชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ | 1,125 | 1,123 | 1,178 | 1,253 | 1,242 |
ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล | 217 | 155 | 164 | 277 | 468 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) | 151,248 | 167,543 | 188,079 | 218,436 | 223,244 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (บาท) | 162,176 | 177,675 | 195,351 | 222,603 | 223,003 |
จำนวนประชากร (1,000 คน) | 933 | 943 | 963 | 981 | 1,001
|
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2558)
ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่อยูํในเขตลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยมีเนื้อที่จังหวัดในลุ่มน้ำท่าจีน 1.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ และในลุ่มน้ำแม่กลอง 135,752.70 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.72 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ และมีคู คลอง ได้แก่ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองภาษี เจริญ คลองบางแก้ว คลองบางระกา คลองบางขโมย คลองตาหรั่ง คลองพระมอพิสัย และอื่นๆ แหล่งน้ำขนาดเล็ก ได้แก่ สระเก็บน้ำ 2 แห่ง (บ้านไผ่ขอม ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน และหมู่บ้านห้วยพระ อำเภอดอนตูม) และฝ่ายน้ำล้น 2 แห่ง (หมู่บ้านรางแขม ตำบลทุ่งขวาง และหมู่บ้านทุ่งขโมย ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอกำแพงแสน) แหล่งน้ำธรรมชาติผิวดินที่สำคัญ คือ แม่น้ำท่าจีน มีความยาวทั้งสิ้น 325 กิโลเมตร ซึ่งไหลผ่านอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ขึ้นไปทางตอนเหนือผ่าน จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรีและจนถึงจุดเริ่มต้นของแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
ทรัพยากรน้ำบาดาล
จังหวัดนครปฐม เป็น 1 ใน 7 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา) ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่วิกฤติน้ำบาดาล มีปริมาณน้ำบาดาลที่ ยอมรับได้ (safe yield) เท่ากับ 2,246,609 ลูกบาศก์เมตร/วัน ปัจจุบันจังหวัดนครปฐม มีปริมาณที่ยอมรับได้ (safe yield) เท่ากับ 230,675 ลูกบาศก์เมตร/วัน
การสาธารณสุข
จังหวัดนครปฐม มีสถานพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลในกํากับของรัฐ จํานวน 14 แห่ง โรงพยาบาล/ สถานบริการเอกชน จํานวน 4 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงอื่น จํานวน 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพประจําตําบล จํานวน 134 แห่ง มีบุคลากรด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย แพทย์รวม 415 คน ทันตแพทย์ รวมทั้งสิ้น 68 คน เภสัชกรรวมทั้งสิ้น 119 คน อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรจังหวัดนครปฐม เท่ากับ 2,147 คน
การศึกษา
จังหวัดนครปฐม แบ่งพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็น 2 เขต ประกอบด้วย สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 ครอบคลุมพื้นที่อําเภอเมือง นครปฐม กําแพงแสน และดอนตูม และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานครปฐม เขต 2 ครอบคลุมพื้นที่อําเภอนครชัยศรี บางเลน สามพราน และพุทธมณฑล ในปี พ.ศ. 2556 จังหวัดนครปฐมมีสถานศึกษาจํานวน 329 แห่ง แยกเป็นสถานศึกษาในพื้นที่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 จํานวน 151 แห่ง และในพื้นที่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 จํานวน 149 แห่ง และสังกัดมัธยมศึกษาเขต 9 จํานวน 29 แห่ง
จังหวัดนครปฐม มีสถานศึกษาทุกระดับที่จะให้บริการทางการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในจังหวัดนครปฐมอย่างพอเพียงตั้งแต่ระดับ ก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยคริสเตียน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม วิทยาเขตของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และโรงเรียนนายร้อยตํารวจ
ประชากร
จังหวัดนครปฐม มีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ทั้งสิ้น 891,071 คน จำแนกเป็นชาย 428,006 คน หญิง 463,065 คน
จังหวัดนครปฐม มีวิสัยทัศน์การพัฒนา 4 ปี พ.ศ. 2557-2560 (ฉบับทบทวน) คือ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ (12 กลยุทธ์ 268 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 9,275.64 ล้านบาท)
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า มีความปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่โดดเด่น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างสังคมคุณภาพอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมได้มีการคัดเลือกพื้นที่เขตผังเมืองรวม อำเภอสามพราน เพื่อเป็นพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม ครอบคลุมพื้นที่เขตปกครอง 8 ตำบล ในอำเภอสามพราน ได้แก่ ตำบลบางกระทึก ตำบลกระทุ่มล้ม ตำบลไร่ขิง ตำบลท่าตลาด ตำบลยายชา ตำบลท่าข้าม ตำบลอ้อมใหญ่ และตำบลบ้านใหม่ มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 1,120 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ได้รับการรับการรับรองระบบบริหารงานระดับสากลและระดับประเทศดังตาราง
การวางผังที่ตั้งและการจัดพื้นที่
พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม (พื้นที่เขตผังเมืองรวมอ้อมใหญ่จังหวัดนครปฐม) มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 87 ตารางกิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 8 ตำบล ในอำเภอสามพราน ได้แก่ ตำบลบางกระทึก ตำบลกระทุ่มล้ม ตำบลไร่ขิง ตำบลท่าตลาด ตำบลยายชา ตำบลท่าข้าม ตำบลอ้อมใหญ่ และตำบลบ้านใหม่ โดยข้อมูลโดยพื้นที่เป้าหมายในอำเภอสามพราน อยู่ในเขตการปกครอง 7 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
-
- เทศบาลตำบลไร่ขิง
- เทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม
- เทศบาลตำบลอ้อมใหญ่ (รวมตำบลบ้านใหม่)
- เทศบาลตำบลบางกระทึก
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตลาด
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม
- องค์การบริหารส่วนตำบลยายชา
ข้อมูลพื้นที่สีเขียว
ผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ กำลังอยู่ในระหว่างจัดทำ โดยแผนผังเก่าได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่22 มีนาคม 2549 แล้วสิ้นสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 จึงไม่สามารถระบุพื้นที่สีเขียวได้
ข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลน
จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล จึงทำให้ไม่มีป่าชายเลนในพื้นที่ของจังหวัดและพื้นที่เป้าหมาย
การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ
ในด้านการออกแบบอาคารและ/หรือระบบภายในอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ/หรือประหยัดพลังงาน นั้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่าในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 92 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 8.21 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน
ผลวิเคราะห์ปริมาณ BOD และ COD ของน้ำทิ้งโรงงานที่มีการรายงานในระบบ ของพื้นที่ผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 จุด ณ ปี พ.ศ.2557-2559
คุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะของพื้นที่เป้าหมาย
พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมมีสถานีตรวจวัดของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 สถานีอยู่ในอำเภอสามพราน โดยมีดัชนีวัดที่สำคัญ คือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (DO) ค่าความสกปรกในรูปแบบสารอินทรีย์ (BOD) การปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) การปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (FCB) และปริมาณแอมโมเนีย-ไนโตรเจน NH3-N
คุณภาพอากาศของพื้นที่เป้าหมาย
ในปัจจุบันมีการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่พบว่าไม่มีจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม อย่างไรก็ตามแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม มีโครงการส่งเสริมการตรวจประเมินและกำกับดูแล เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมตรวจประเมินและป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ (น้ำ อากาศ และการจัดการของเสีย) จากโรงงานอุตสาหกรรม โดยบุคคลที่ 3 ซึ่งในโครงการดังกล่าวได้รวมไปถึงการตรวจประเมินคุณภาพอากาศด้วย
กิจกรรมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศของพื้นที่เป้าหมาย
ในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษในโรงงาน ในการยื่นขอจดประกอบกิจการ และยื่นต่อทะเบียนโรงงาน รวมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลมลพิษทางอากาศของโรงงานที่เข้าข่ายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ.2550 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมยังมีโครงการที่ส่งเสริมการตรวจประเมินและกำกับดูแล เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานในพื้นที่ โดยมีตรวจประเมินและป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ ทั้งในด้านน้ำ อากาศ และการจัดการของเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม โดยบุคคลที่ 3 เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นเป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม
ข้อมูลชนิดและปริมาณกากของเสียของพื้นที่เป้าหมาย
ข้อมูลศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ตามรายงานการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานในพื้นที่อำเภอสามพราน โดยในปี 2559 มีกากของเสียรวม 58,762.5 ตัน จำแนกเป็นกากของเสียไม่อันตรายร้อยละ 87.7 และกากของเสียอันตรายร้อยละ 12.3
นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมยังมีโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้สถานประกอบการนำของเสียมาใช้ประโยชน์และการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิล/อัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม ของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม
ข้อมูลชนิดและปริมาณขยะชุมชุนของพื้นที่เป้าหมาย
จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2559 กรมควบคุมมลพิษ พบว่าพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บขยะและกำจัดขยะชุมชน โดยวิธีฝังกลบ (landfill)
นอกจากข้อมูลข้างต้น ในแผนปฏิบัติการตามแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม ยังได้มีโครงการที่มุ่งส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มีโครงการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม โครงการพัฒนา/ก่อสร้างระบบการกำจัดขยะมูลฝอยรวม โครงการส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เทศบาลตำบลอ้อมใหญ่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และโครงการส่งเสริมการแปรรูปขยะมาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ/วิสาหกิจชุมชน
การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม
พลังงานที่โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครปฐมใช้มี 5 ประเภท คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ดีเซลหมุนช้า น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า
การใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เป้าหมาย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่ามีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานอาคารควบคุมพลังงาน จำนวน 92 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 8.21 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ 8 จังหวัด มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้พลังงาน (mass balance) ในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย
การจัดการเหตุเดือดร้อนรำคาญ
ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 พบว่า ในปี 2558 จังหวัดนครปฐมมีเรื่องร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 37 เรื่อง โดยสาเหตุของเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากกลิ่นเหม็น รองลงมาคือ เรื่องน้ำ แต่ไม่มีข้อมูลของข้อร้องเรียนของพื้นที่ผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ เนื่องจากไม่มีข้อมูลแยกเป็นรายพื้นที่ย่อยในจังหวัดนครปฐม
โรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากฐานข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม พบว่าไม่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และโรงงานได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ขึ้นไป จำนวน 27 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 2.41 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมมีโครงการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียว (GI)
การดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ
กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้จัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงาน ในขั้นตอนการแจ้งจดทะเบียนประกอบกิจการและยื่นต่ออายุใบประกอบกิจการ นอกจากนั้น ในโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ 8 จังหวัด ก็ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบของโรงงาน และในระดับจังหวัดมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI)
การดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ
ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม อย่างไรก็ตามได้มีแผนในการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ โดยในแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมได้มีโครงการส่งเสริมโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)
การดำเนินกิจกรรมหรือมาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีมาตรการเพื่อส่งแสริมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดเตรียมฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลทั้งประเทศ และจากฐานข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่าในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมมีโรงงานที่ได้รับฉลากลดโลกร้อน จำนวน 1 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนั้นในพื้นที่ยังมีแผนในการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก จากแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม มีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
การประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อความหลากหลายทางชีวภาพและจัดทำแผนป้องกันผลกระทบ
จากฐานข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของโรงงานที่จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดทำแผนป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีโรงงานที่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 1 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
การจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง
จากฐานข้อมูลสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย พบว่าในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีโรงงานที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยง จำนวน 34 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 2.63 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมาย
การรั่วไหล และการเกิดอุบัติเหตุของสารเคมีและวัตถุอันตราย ที่ทำให้เกิดผล กระทบต่อพนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
จากข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุของโรงงานอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2559 ของพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม ไม่มีการรั่วไหล และการเกิดอุบัติเหตุของสารเคมีและวัตถุอันตราย ที่ทำให้เกิดผล กระทบต่อพนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ในจังหวัดนครปฐม มีการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม มีการจัดเก็บฐานข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในหลายช่องทาง โดยมีเครือข่ายในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดนครปฐม และชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน
คุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงาน
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีดำเนินงานตามแนวทางการเป็นที่ทำงานมีสุข (Happy Workplace)
การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
จากฐานข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า มีโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW ซึ่งตามข้อกำหนดให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 8 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.71 ของโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานในพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลการดำเนินกิจกรรม CSR ที่ไม่ได้เข้าร่วมผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม
คดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญในพื้นที่เป้าหมาย
จากการรวบรวมข้อมูลคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญของประชากรรวมในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ในพื้นทีรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้วและสถานีตำรวจภูธรสามพราน พบว่าคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 เกิดขึ้นทั้งหมด 12 คดี และมีการจับกุมได้ทั้ง 12 คดี
สถิติการรับแจ้งและจับกุมกลุ่มคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ รายตำบลในพื้นที่พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2559
จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายในทรัพย์สินจากภัยพิบัติ
ข้อมูลจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม พบว่าในปี พ.ศ.2559 ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมมีประชากรที่ประสบสาธารณภัยจำนวน 207 คน
แผนและผลการดำเนินงานของคณะทำงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ/หรือ เครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ขึ้นในปี พ.ศ.2559 โดยขณะนี้แผนปฏิบัติการอยู่ในช่วงการของบประมาณเพื่อดำเนินการและในปี พ.ศ.2560 ได้มีการประสานเพื่อจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัดนครปฐม
การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในรูปแบบ ช่องทาง และความถี่ในการสื่อสารในลักษณะต่างๆ อย่างมีประสิทธิผล
ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับจังหวัดหรือเรียกว่า ศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยตั้งอยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร ให้คำปรึกษาแนะนำและเปิดเผยข้อมูลของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อีกทั้งยังมีการจัดทำเว็บไซต์ http://ecocenter.diw.go.th/ เพื่อใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์อีกหนึ่งช่องทาง
การสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูล การจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสารเคมีของโรงงานต่อสาธารณะ
ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม มีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีข้อแนะนำเรื่องการจัดการความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสารเคมีของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://ecocenter.diw.go.th/อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลอีกด้วย
คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ดาวน์โหลดเอกสารคณะทำงานเครือข่ายฯ (Eco Network)
ดาวน์โหลดเอกสารคณะขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ดาวน์โหลดเอกสาร