การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศญี่ปุ่น

หากกล่าวถึงอีโคทาวน์แล้วประเทศที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาอีโคทาวน์ประเทศหนึ่งในโลกก็คือ ญี่ปุ่นซึ่งแม้จะเริ่มต้นพัฒนาทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับกรณีของประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น แต่ด้วยความมุมานะและตั้งใจจริงในการพัฒนา แม้ญี่ปุ่นจะต้องพ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ตาม ญี่ปุ่นก็ยังสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างไม่แพ้ชาติใด งานศึกษาชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอีโคทาวน์ใน ๓ ด้านหลักคือ

๑) ความเป็นมาของ อีโคทาวน์ในประเทศญี่ปุ่น

๒) กรณีศึกษาอีโคทาวน์ของญี่ปุ่น และ

๓) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ความเป็นมาของอีโคทาวน์ในประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศหนึ่งในโลกที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจโดยแม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่แพ้สงคราม แต่สิ่งที่ทำให้ชาวโลกยอมรับก็คือ ความสามารถของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูประเทศได้อย่างดียิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผ่านมา แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นหาได้มีความแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายไม่ กล่าวคือ ยึดแนวทางการพัฒนาตามกระแสหลักซึ่งเน้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยมีภาครัฐและกลุ่มทุนเป็นแกนหลักในการพัฒนา ผลของการพัฒนาดังกล่าวแม้จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจเติบโตและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐s – ๑๙๘๐s รวมทั้งทำให้วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป กล่าวคือ ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นจากสินค้าต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีก็ตามแต่การพัฒนาดังกล่าวก็นำมาซึ่งปัญหาด้วยเช่นกันโดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ทำให้คุณภาพน้ำและอากาศเลวลงเนื่องมาจากการการปล่อยของเสีย ปัญหาขยะและมลพิษต่าง ๆ ปัญหาการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในบางพื้นที่ การใช้เชื้อเพลิงและพลังงานมหาศาลรวมทั้งน้ำ จำนวนมากเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรม เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ผลจากข้อตกลง Plaza Accord ในปี ๑๙๘๕ ที่ทำให้เกิดการแข็งค่าของเงินเยนและส่งผลให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะในแถบเอเซียและนำไปสู่ปัญหาการว่างงานรวมทั้งการตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากการแตกตัวของเศรษฐกิจฟองสบู่ในทศวรรษ ๑๙๙๐s เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด ประกอบกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นานาชาติให้ความสำคัญและเริ่มเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาไปสู่กระแสทางเลือกที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และคำนึงถึงคนรุ่นหลัง นับว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสแนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่น

โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero-emission Concept) ของ United Nations University ในปี ๑๙๙๔ นับว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นทำให้เปลี่ยนมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ประสานระหว่างอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม ท้องถิ่น และชุมชนในท้องถิ่นทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Well-being) ขณะเดียวกันชุมชนและท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมเองก็เริ่มตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด ควบคุมการปล่อยของเสีย การประหยัดพลังงาน รวมทั้งการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดขยะ

แนวทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนของญี่ปุ่นแนวทางหนึ่งก็คือ การส่งเสริมแนวคิดเมืองนิเวศ (Eco-town) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นจากการเป็นแกนนำของรัฐบาลกลางญี่ปุ่นในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยมอบหมายให้ ๒ กระทรวงหลักเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอีโคทาวน์ในญี่ปุ่นโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่มีบทบาทดังกล่าวคือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment: MoE) เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนที่ทิ้งขยะและความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้งแรงกดดันในการส่งเสริมให้เกิด Zero-emission รัฐบาลจึงต้องตั้งอีโคทาวน์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะและช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมาย Zero-emission โดยการนำของเสียที่เกิดขึ้นกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้ง รวมทั้งการควบคุมมลพิษต่างๆที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม

แนวคิด Zero-emission นี้เกิดขึ้นโดย United Nations University ในปี ๑๙๙๔ มีเป้าหมายเพื่อ

ทำให้ของเสียเข้าใกล้ศูนย์
ลดปัญหาเรือนกระจกและส่งเสริมการประหยัดพลังงาน
ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ
อีโคทาวน์พัฒนาขึ้นเพื่อผสมผสานความพยายามในการบำบัดของเสีย (Waste Treatment) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Preservation) และการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ

แก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ทิ้งขยะ (To cope with serious shortage of final landfill sites)
เพื่อแก้ปัญหาชะงักงันของอุตสาหกรรมท้องถิ่นขณะเดียวกันก็สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero-emission) ภายใต้ความร่วมมือกับอุตสาหกรรมและคนในท้องถิ่น
แนวทางการพัฒนาอีโคทาวน์ในญี่ปุ่นได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

๑) รัฐบาลกลางโดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MoE) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการพิจารณาโครงการและอนุมัติเงินสนับสนุนเพื่อการดำเนินการตามโครงการอีโคทาวน์ที่เสนอมา นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

๒) รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมีบทบาทในการเสนอแผนอีโคทาวน์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคมรีไซเคิล (Recycling Society) เป็นผู้นำในการส่งเสริมการสร้างเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดการรีไซเคิลทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

๓) คนในท้องถิ่นหรือชุมชนและองค์กรเอกชน (NPOs) มีบทบาทในการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแผนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นอีโคทาวน์ เช่น การคัดแยกขยะ การนำทรัพยากรรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์

๔) บริษัทเอกชนมีบทบาทในการเป็นผู้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เช่น การใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิต การนำเอาวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต การสร้างโรงงานรีไซเคิล การร่วมมือกันระหว่างเอกชนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

๕) สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ การตรวจประเมินสภาพสิ่งแวดล้อม โรงเรียนมีบทบาทในการให้ความรู้แก่เด็กรวมทั้งปลูกฝังให้เด็กมีส่วนในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน

ความเชื่อมโยงของแต่ละภาคส่วนแสดงไว้ในรูปที่ ๔-๑ จะเห็นว่าการดำเนินการทางด้านการรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็นกิจกรรมด้าน “software” ในขณะที่กิจกรรมทางเทคโนโลยีที่มีการลงทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลจะถูกเรียกว่าเป็นกิจกรรมด้าน “hardware”

ในปี ๒๐๐๖ มีโครงการอีโคทาวได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม(METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MoE) ของญี่ปุ่นจำนวน ๒๖ พื้นที่ ดังแสดงในรูปที่ ๒-๒ โดยรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้เสนอแผนการพัฒนาอีโคทาวน์ของท้องถิ่นตนไปยังกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MoE) เพื่อให้พิจารณา หากโครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติและรับรองแผน รัฐบาลท้องถิ่นก็จะได้รับเงินสนับสนุนซึ่งอาจมากถึงร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์หรือด้านการก่อสร้าง และด้านซอฟท์แวร์ เช่น การประชาสัมพันธ์โครงการ กิจกรรมเครือข่าย การให้บริการสนับสนุนด้านข้อมูล การส่งเสริมและให้ความรู้สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แผนอีโคทาวน์ของแต่ละท้องถิ่นที่นำเสนอเพื่อขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนั้นจะแตกต่างกันไปตามบริบทของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละท้องถิ่น

เมจิ ยาสุฮิโร และ ฮิโรมิ (Meiji, Yasuhiro, and Hiromi ๒๐๐๔) ได้จำแนกประเภทของอีโคทาวน์ออกเป็น ๓ ประเภท หลักคือ

๑) ประเภทส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Industries Promotion Type) ซึ่งได้แก่ ฮอกไกโด อคิตะ ฮิโรชิมา ยามากูจิ อุซุยกาวามิยากิ คาวาซากิ โตยามา โคะอุจิ คิตะคิวชู และโอมุตะ

๒) ประเภทบำบัดของเสีย (Waste Treatment Type) ได้แก่ อะโอโมริ จิบะ กิฟุ ซัปโปโร นาโอชิมา

๓) ประเภทการจัดการชุมชน (Community Organizing Type) ได้แก่ อิอิดะ และมินามาตะ

อีโคทาวน์เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่เน้นการให้ความสำคัญระหว่างการพัฒนาควบคู่ไปการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่

๑) การพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมที่เน้นฐานการรีไซเคิล (Recycling-based Society)

๒) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-business) ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sound Technology)

๓) การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservative)

๔) การปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero-emission)

๕) หลักการ ๓R คือ Reduce Reuse Recycle

ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางภายใต้การนำของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MoE) รัฐบาลท้องถิ่น คนในท้องถิ่นหรือชุมชนและองค์กรเอกชนบริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา

การส่งเสริมอีโคทาวน์สามารถประสบผลสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ โดยกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอีโคทาวน์ ได้แก่

๑) กฎหมายสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน (Basic Environmental Law ๑๙๙๓) เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการเป็นสังคมรีไซเคิล (Recycle-based Society) ในกฎหมายฉบับนี้ได้มีการระบุเป้าหมายทางปริมาณเอาไว้ชัดเจนว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๐๐ กับปี ค.ศ. ๒๐๑๐ แล้ว ความคุ้มค่าของการใช้วัสดุ (resource productivity) ต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐ (เทียบเท่ากับ ๓๙๐,๐๐๐ JPY/ton) อัตราการรีไซเคิลวัสดุต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐ (เทียบเท่าร้อยละ ๑๔ ของวัสดุใหม่) และลดพื้นที่ฝังกลบลงร้อยละ ๕๐ (เทียบเท่ากับการลดปริมาณกากของเสียลงเหลือเพียง ๒๘ ล้านตัน/ปี)

๒) กฎหมายการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ (Container and Packaging Recycling Law ๑๙๙๕) ซึ่งเกี่ยวกับการนำเอาบรรจุภัณฑ์ที่คัดแยกแล้วกลับมารีไซเคิล

๓) กฎหมายส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Law for Promotion of Effective Utilization of Resources ๒๐๐๐) ซึ่งเน้นส่งเสริมการลดขยะ (Reduce) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) ที่มีเป้าหมายรีไซเคิลขวดแก้วให้ได้ร้อยละ ๘๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ รีไซเคิลกระป๋องโลหะให้ได้ร้อยละ ๘๕ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ รีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมให้ได้ร้อยละ ๘๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ รีไซเคิลขวด PET ให้ได้ร้อยละ ๕๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๔ รีไซเคิลกระดาษให้ได้ร้อยละ ๖๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ และรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ร้อยละ ๔๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๐๕

๔) กฎหมายความสะอาดสาธารณะและการจัดการของเสีย (Waste Management and Public Cleaning Law ๒๐๐๐) ซึ่งเกิดขึ้นหลังการมีปัญหาขาดแคลนที่ทิ้งขยะทำให้มีการลักลอบทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำกัดการสร้างขยะและดูแลการทิ้งขยะรวมทั้งการส่งเสริมให้มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่

๕) กฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สีเขียวซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Law on Promoting Green Purchasing)

๖) กฎหมายการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (Electric Household Appliance Recycling Law ๒๐๐๑) ที่มีเป้าหมายรีไซเคิลอุปกรณ์ของใช้ในครัวเรือนได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น โทรทัศน์ และเครื่องซักผ้า ให้ได้ร้อยละ ๖๐, ๕๐, ๕๕ และ ๕๐ตามลำดับ ภายใน ๑ ปี

๗) กฎหมายการรีไซเคิลอาหาร (Food Recycling Law ๒๐๐๐) ที่มีเป้าหมายรีไซเคิลเศษวัสดุอินทรีย์จากการผลิตและขายผลิตภัณฑ์อาหารอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๐๐๖

๘) กฎหมายการรีไซเคิลวัสดุก่อสร้าง (Construction Material Recycling Law ๒๐๐๐) ที่มีเป้าหมายรีไซเคิลวัสดุที่เป็นไม้ คอนกรีต และยางมะตอย ให้ได้ร้อยละ ๙๐, ๙๖ และ ๙๘ ตามลำดับ ภายในปี ๒๐๐๕

๙) กฎหมายการรีไซเคิลรถยนต์ (Automobile Recycling Law ๒๐๐๒) ที่มีเป้าหมายรีไซเคิลยางรถยนต์ให้ได้ร้อยละ ๙๐ ภายในปี ๒๐๐๕ และรีไซเคิลชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้ในบ้านเรือนถึงร้อยละ ๙๕ ในปี ๒๐๒๐

จากการศึกษาของ Berkel และคณะ (๒๐๐๙) แสดงถึงงบประมาณที่มีการลงทุนในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของญี่ปุ่นทั้งหมด ๒๖ โครงการ (เมือง) ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๗-๒๐๐๖ เป็นวงเงินทั้งสิ้น ๑๖๕,๔๘๕ ล้านเยน โดยในจำนวนนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐถึง ๕๙,๑๖๘ ล้านเยน คิดเป็นร้อยละ ๓๖ ของวงเงินทั้งหมด รูปที่ ๒-๓ แสดงถึงระดับการลงทุนและการได้รับการสนับสนุน

ในระยะแรกของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น ประชาชนผู้อยู่อาศัยในแต่ละเมืองอาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนามากเท่ากับหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการ แต่เมื่อมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นแล้วความร่วมมือจากประชาชนผู้อยู่อาศัยจะมีความสำคัญมาก Eco-town บางแห่งได้จัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,557