อุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศเดนมาร์ค

ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศหนึ่งที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับแนวหน้าของโลกในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ก็มีตัวอย่างที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Industrial Symbiosis) ซึ่งเป็นการประยุกต์จากอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Industrial Ecology) ตัวอย่างที่เป็นต้นแบบ Industrial Symbiosis ที่เก่าแก่ที่สุดและประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ เมือง Kalundborg ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มโรงงานที่มีการดำเนินงานแบบเกื้อกูลกัน

         Kalundborg’s industrial symbiosis ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ ๑๙ นับถึงปัจจุบันก็มีอายุ ๕๐ ปีแล้ว ปัจจุบันกลุ่มโรงงานใน Kalundborg มีโครงการที่เกื้อกูลกันในด้านการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycling of water) การส่งต่อพลังงาน (transfer of energy) และการนำของเสียอุตสาหกรรมมาใช้ใหม่ (recycling of waste products) รวมมากกว่า ๓๕ โครงการ ระหว่างกลุ่มบริษัท ๘ บริษัท กับเทศบาลเมือง Kalundborg

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดความร่วมมือเกื้อกูลกันเป็นผลจากการปรับปรุงการดำเนินงานที่ลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำไร โครงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและพลังงานดังกล่าว จะเกิดจากการเจรจาหารือกันระหว่างคู่ธุรกิจ ซึ่งปกติจะจับคู่กันเป็นคู่ ๆ ในแต่ละคราว กรณีของ Kalundborg นี้ Industrial Symbiosis ไม่ได้เกิดจากการวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดีมาก่อน แต่ละโครงการเกิดจากคู่ธุรกิจเจรจาตกลงกันในการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานร่วมกัน ทั้งนี้กลุ่มโรงงานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม และไม่มีการบริหารจัดการร่วมกันแต่อย่างใด คู่ธุรกิจแรก ๆ ที่จับมือร่วมมือกันได้แก่ เทศบาลเมือง Kalundborg กับ Statoil refinery (หรือ Esso ในปัจจุบัน) โดย Statoil refinery ต้องการขยายกำลังการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต เทศบาลเมือง Kalundborg จึงติดต่อขอซื้อน้ำจากเทศบาลข้างเคียงมาเสริมเพื่อขายให้แก่ Statoil refinery เกิดธุรกิจที่ยังประโยชน์ให้แก่กันและกัน ต่อมาจึงมีการจับคู่ธุรกิจในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากร พลังงาน และกากของเสียอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามมา เป็นมากกว่า ๓๕ โครงการดังกล่าวมาแล้ว โดยประกอบด้วย โครงการด้านน้ำ ๑๔ โครงการ ด้านพลังงาน ๗ โครงการ ด้านกากของเสียอุตสาหกรรม ๑๘ โครงการ

ตัวอย่างการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง ได้แก่ ขี้เถ้าจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จะถูกนำไปใช้ในการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตสำเร็จรูป ยิปซัมจากโรงงานจะถูกใช้ในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ (plasterboards) ของเสียจากการผลิตอินซูลิน (บริษัท Novo Gro) จะถูกนำไปผลิตปุ๋ย เป็นต้น สำหรับตัวอย่างด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรพลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติและลดการปล่อย CO2 ผ่านการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำ การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมีผลทำให้บริษัทที่ร่วมมือกันมีผลกำไรสูงขึ้น

Hans Berndt Jespersen and Camila Klintlt Hansen (๒๐๑๒) สรุปไว้ว่า Kalundborg Symbiosis สามารถลดการปล่อยก๊าซ GHG ได้ ๒๗๕,๐๐๐ ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปล่อย CO2 จากการบริโภคไฟฟ้าของประชากร ๘๐,๐๐๐ ครัวเรือน นอกจากนี้ยังสามารถลดการใช้น้ำจากธรรมชาติประมาณ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้กลุ่มโรงงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถลดภาษีและค่าใช้จ่ายจากการลดการใช้พลังงาน และการบำบัด/กำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมอีกด้วย รูปที่ ๓-๑ แสดง Kalundborg Symbiosis ๒๐๑๒

ปัจจุบันเทศบาลเมือง Kalundborg อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้โรงงานใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบ KalundborgSymbiosis มากขึ้น และร่วมมือกันปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมตลอดถึงการจัดหาพลังงานทางเลือกต่าง ๆ แม้ว่าเมือง Kalundborg จะเป็นเมืองเล็ก ๆ มีประชากรเพียง ๔๙,๐๐๐ คน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ระบายก๊าซ CO2ถึง ๘-๙ % ของที่เดนมาร์กระบายออกในแต่ละปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มศักยภาพการผลิตสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้เมือง Kalundborg ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินกิจกรรม/โครงการด้านภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงานจากรัฐบาลกลางด้วย โครงการ The KINEC project (Kalundborg Integratiel Energy Concept)

หลักการของความยั่งยืนและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลให้เทศบาลเมือง Kalundborg เป็นเทศบาลอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งใหม่ (New green industrial municipality) ในปี ๒๐๒๐ ประกอบด้วย การส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานใหม่ ๆ จาก symbiosis corporation เช่น ชีวมวล (Biomass) ก๊าซชีวภาพ (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solarenergy) หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal energy) ความท้าทายนี้นำมาสู่รูปแบบใหม่ของ Kalundborg Symbiosis ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการในด้านการตั้งโรงไฟฟ้าสีเขียว คือ DONGEnergy ซึ่งมุ่งที่จะใช้ความร้อนที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ (ไม่ทำให้เกิดโลกร้อน) ผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับเมือง Kalundborg โครงการ KINEC มุ่งที่จะใช้เทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้ชีวมวลเป็นพลังงาน โดย DONG ใช้ของเสียจาก NOVO Nordisk และ NOVO zymes และก๊าซจากการบำบัดน้ำเสียในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดการระบายก๊าซ CO2 ได้ ๗๐๐,๐๐๐– ๘๐๐,๐๐๐ ตันภายในปี ๒๐๒๐

โครงการ KINEC อาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการนำชีวมวลและกากของเสียต่างๆ มาใช้ ประกอบด้วย เทคโนโลยี Renescience, Pyroneer Inbicom และนวัตกรรมอื่น ๆ ดังแสดงในรูปที่ ๓-๒ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวมวลและกากของเสีย เริ่มจากเทคโนโลยี Renescience ซึ่งเป็นการคัดแยกชีวมวลและกากของเสียเพิ่มประสิทธิภาพการนำกลับไปใช้ใหม่ และการเผาไหม้ที่สมบูรณ์สะอาดยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า กระบวนการนี้ใช้เอ็นไซม์ย่อยสลายอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายได้ กระบวนการที่สอง คือ Pyroneer เป็นชื่อของเทคโนโลยีใหม่ของการความร้อนจากก๊าซจากชีวมวล (thermal gasification of biomass) โดยแปรรูปชีวมวลและกากของเสียด้วยต้นทุนต่ำให้เป็นก๊าซที่เผาไหม้ได้เพื่อใช้แทนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ กากที่เหลือของชีวมวลและของเสียยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ เนื่องจากยังมี phosphorus และ alkaline materials อยู่ และกระบวนการสุดท้าย คือ Inbicom เป็นการเปลี่ยนชีวมวลที่เหลือเป็น Biothanol โดยโรงงานสาธิตสามารถผลิตเอธานอลจากชีวมวลได้ ๔ ตัน/ชั่วโมง หรือใช้ฟาง ๓๐,๐๐๐ ตัน/ปี กระบวนการใช้กากของเสียเป็นวัตถุดิบใหม่เป็นรูปแบบของ circular economy โดยพยายามหมุนเวียนกากของเสียไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอื่น ๆ ต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุป Kalundborg Symbiosis เกิดเป็นผลสำเร็จได้เนื่องจากมีการหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารของโรงงานที่เป็นคู่ธุรกิจ มีการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของระบบการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบ และพิจารณาประโยชน์โดยรวมของทุกฝ่ายด้วยความจริงใจต่อกัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมือง kalundborg มีเป้าหมายร่วมกันคือ สิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green environment) และสังคมยั่งยืน/การผลิตยั่งยืน (Sustainable society and production)

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,602