ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town)

๑) การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ประกอบด้วย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment: MoE) ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบากลาง รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา

 บทบาทของรัฐบาลกลางที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

- เป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาอีโคทาวน์ของแต่ละพื้นที่ โดยให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อพัฒนาทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ เพื่อการดำเนินโครงการอีโคทาวน์

- มีบทบาทสำคัญในด้านการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและควบคุมให้ทุกภาคส่วนต้องดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นต่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

รัฐบาลท้องถิ่น แม้ในช่วงแรกอาจจะไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาอีโคทาวน์ เพราะยังเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินธุรกิจของเอกชนในท้องถิ่นอยู่ก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดด้วยแรงกดดันจากภาคประชาชนก็ต้องหันมาดำเนินมาตรการอีโคทาวน์อย่างจริงจังโดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้นำและผู้ประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

บทบาทของโรงงาน/ผู้ประกอบการเอกชนต่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

โรงงาน/ผู้ประกอบการเอกชนเองก็ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น หากยังดันทุรังที่จะไม่ปฏิบัติตามแนวทางของรัฐ เนื่องจากมีบทลงโทษหนักและมีการลงโทษอย่างจริงจัง รวมทั้งเกรงว่าหากทำความผิดอาจไม่เพียงถูกลงโทษทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังถูกลงโทษทางสังคมโดยการดูถูกและประณามจากคนในสังคมด้วย จึงไม่กล้าที่จะทำผิดและต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเอกชนบางส่วนที่มีความตั้งใจจริงตั้งแต่แรกแม้จะไม่ถูกกฎหมายบังคับที่จะดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บทบาทของสถาบันการศึกษา

สถาบันการศึกษาก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความรู้เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ที่สำคัญประชาชนชาวญี่ปุ่นเองคือ ภาคส่วนหลักที่จะส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแม้ในช่วงแรกอาจต้องทำไปเพราะมีกฎหมายบังคับแต่ท้ายที่สุดเมื่อเห็นประโยชน์ทุกคนก็ร่วมมือร่วมใจอย่างแท้จริง เช่นกรณีของการคัดแยกขยะนั้นญี่ปุ่นเองก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทำให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้สำเร็จ

๒) การมีกฎหมายที่เข้มงวดและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างแท้จริงทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม จนท้ายที่สุดกลายเป็นกฎทางสังคมที่หากผู้ใดละเมิดย่อมถูกลงโทษทางสังคม เช่น กรณีการทิ้งขยะในญี่ปุ่นนั้นจะเน้นการคัดแยกขยะเป็นสำคัญทั้งนี้เพื่อลดปริมาณขยะและลดการใช้ทรัพยากรดังนั้นถังขยะในที่ต่าง ๆ ก็จะมีการแยกถังทิ้งว่าเป็นประเภทขวดพลาสติก แก้ว กระป๋อง กระดาษ หรือขยะอื่น ๆ หรือการทิ้งขยะของครัวเรือนในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะมีตารางกำหนดการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ รวมทั้งกำหนดวัน ในการทิ้งขยะประเภทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหากใครไม่ทำตาม เช่น ทิ้งขยะผิดถังที่กำหนดไว้ก็จะถูกมองหรือเตือนจากผู้อื่น หรือกรณีของโรงงานอุตสาหกรรมหากปล่อยควันหรือน้ำเสียเกินมาตรฐานก็จะถูกสั่งปิดโรงงานทันทีโดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่แท้จริงไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกหรือคอรัปชันให้เห็น

๓) ด้วยเป็นประเทศที่เป็นเกาะมีทรัพยากรน้อย จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความตั้งใจมุมานะอย่างแท้จริงโดยเฉพาะในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีการบำบัดของเสีย เทคโนโลยีในการรีไซเคิล เป็นต้น นอกจากนี้ประชากรของญี่ปุ่นยังมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของคอมพิวเตอร์แม้จะเป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า ๗๐ ก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้จึงช่วยเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดนได้เป็นอย่างดี

๔) การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำศูนย์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

๕) การปลูกฝังจิตสำนึกให้รักสิ่งแวดล้อม และไม่ทุจริตตั้งแต่เด็กทำให้คนญี่ปุ่นที่เติบโตมาน้อยคนนักที่จะทำความผิดและหากทำความผิดก็มักโทษตนเองไม่ใช่โทษสังคมว่าทำให้ตนต้องทำผิด เช่น การคัดแยกขยะนั้นจะสอนและปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กทั้งในบ้านและในโรงเรียนและหากเห็นใครทำผิดก็จะไม่ทำตามแต่จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง

๖) การทำอย่างครบวงจรในทุก ๆ ด้านเพื่อสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากจะมีแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อส่งเสริมสังคมที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตก็พยายามเชื่อมโยงไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นชินกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เมื่อชาวญี่ปุ่นไปซื้อของมักจะนำถุงผ้าไปด้วยเพื่อใส่ของที่ซื้อและลดการใช้ถุงพลาสติก หรือวัฒนธรรมการห่อข้าวจากบ้านไปรับประทานที่ทำงานโดยไม่อายใครก็ช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีกระแสโลฮาส (Lifestyles of Health and Sustainability : LOHAS) ซึ่งเน้นการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจึงทำให้เกิดโรงแรมที่เน้นส่งเสริมสุขภาพของแขกที่เข้าพักโดยให้เลือกประเภทหมอนเอง รวมทั้งการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยนำวัตถุดิบมาจากธรรมชาติปลอดสารพิษ หรือการใช้ทิชชูที่มาจากกระดาษรีไซเคิล เป็นต้น

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,573