แนวความคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศริเริ่มครั้งแรกในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ในขณะที่แนวความคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน (Industrial symbiosis) ที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม Kalundborg ในประเทศสวีเดนได้เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งมีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนผลพลอยได้ (By – Products Exchange: BPX) และพลังงานความร้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายหลัก คือการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง แรงกดดันของประชาคมโลกในการต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัจจัยคุกคามต่อสภาพเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกในระยะที่ผ่านมา ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ดังนั้น ทำให้เกิดแนวคิดการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development)
การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มได้รับการยอมรับและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environmental Protection: MEP) ได้ดำเนินการจัดทำและประกาศใช้แผนงานสร้างเมืองเชิงนิเวศ ชุมชนเชิงนิเวศและการพัฒนาภูมิภาคเชิงนิเวศทั่วประเทศ (Eco-counties, Eco-cities, Eco-region)
ปี ค.ศ. 2003 มีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานและระเบียบต่างๆ สำหรับการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ ได้แก่ การจัดทำและประกาศใช้แผนก่อสร้างเมืองเชิงนิเวศ (Eco-city construction plan) การจัดตั้งหน่วยงานอิสระในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม การกำหนดเป้าหมายลดปริมาณการใช้พลังงานในหน่วยงานของรัฐ การประกวดและจัดลำดับเมืองและจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการตั้งเป้าหมายการพัฒนาเมืองให้ดำเนินการได้ตามแผนการก่อสร้างตามเกณฑ์การอนุรักษ์และป้องกันสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งจัดให้มีจังหวัดตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องในการพัฒนาเชิงนิเวศจากกระทรวงปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ปีค.ศ. 2007 มีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นโดยกองทุน ร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Brothers Fund) ให้เงินสนับสนุนการศึกษาวิจัยเมือง Guangdong และเกาะฮ่องกง สำหรับการพัฒนาเมืองสู่เขตเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon economy)
ปี ค.ศ. 2008 มีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานและระเบียบต่างๆ สำหรับการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ ที่ได้จัดทำไว้ในปีค.ศ. 2003 นอกจากนี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) ได้ดำเนินโครงการระดับทดลอง (Pilot project) สำหรับการพัฒนาพื้นที่เมือง Shanghai และ Baoding เพื่อพัฒนาตามแผนงาน “Low-carbon city development program” และหลังจากนั้นมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ เช่น Institute for Sustainable Communities’ Low Carbon City Training Program, The Joint US-China Collaboration on Clean Energy (JUCCCE), The Sustainable Development Technology Foundation, The Low Carbon City China Alliance, นอกจากนี้ สถาบัน/องค์กรระหว่างประเทศ อาทิเช่น United Nation Development Program (UNDP) รัฐบาลนอรเวย์ และประชาคมยุโรปได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการของรัฐบาลจีนในโครงการลดโลกร้อน (Climate Change Project) และการแก้ไขสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาสภาวะการปล่อยมลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอากาศ น้ำและอื่นๆ การสร้างแบบจำลองอนาคตด้านสถานการณ์สิ่งแวดล้อม บทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ระบบขนส่งมวลชน การอุตสาหกรรม การลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนต่อสังคม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมือง เป็นต้น
แนวคิดการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศและการลดก๊าซเรือนกระจกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นการพัฒนาเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ (Eco-city and low carbon development) ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2009 โดยมีการจัดทำรายงานการศึกษาว่าด้วยกลยุทธ์การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ ความเป็นไปได้เชิงกลยุทธ์การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ กลยุทธ์การพัฒนาเมืองและภูมิภาคโดยจัดเขตพื้นที่ (Zoning) การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การจัดทำกรณีศึกษาความสำเร็จในการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ การศึกษาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และส่วนที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 หลายๆ เมืองได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศ เช่น รัฐบาลอังกฤษ (UK Strategic Program Fund) ให้เงินสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาใน 4 เมือง ได้แก่ Jilin, Nanchang, Chongqing และ Guangdong รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ ให้เงินสนับสนุนโครงการทดลองใน 8 เมือง เป็นต้น
หน่วยงานที่ดำเนินการและรับผิดชอบการบริหารจัดการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของสาธารณรัฐประชาชนจีน
มีทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่กำกับดูแลและการดำเนินโครงการ โดยหน่วยงานในส่วนกลาง ได้แก่ 1) กระทรวงปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environmental Protection) จัดทำโครงการเมืองเชิงนิเวศ (Eco-city) และมอบประกาศเกียรติบัตรแก่เมืองต่างๆ ในปี ค.ศ. 2011 รวมจำนวน 38 เมือง 2) กระทรวงพัฒนาทีอยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง-ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) จัดทำโครงการ Eco-Garden City 3) คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) จัดทำโครงการ Low-Carbon City ขึ้นเพื่อพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยจัดทำในเมืองต่างๆ รวม 13 แห่งเพื่อเป็นการเริ่มดำเนินการในระยะแรก ได้แก่ Guangdong, Liaoning, Hubei, Shaanxi, Yunnan, Tianjin, Chongqing, Shenzhen, Xiamen, Hangzhou, Nanchang, Guiyang, และ Baoding โดยพิจารณาจากสภาพเงื่อนไขในท้องถิ่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและโอกาสในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในท้องถิ่น 4) กระทรวงพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง-ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) จัดทำโครงการ Eco-Garden City ซึ่งได้ดำเนินการประกาศให้เมืองต่างๆ ที่มีการพัฒนาเป็น Eco-Garden City รวม 13 เมืองจากจำนวนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 184 เมือง ทั้งนี้เมืองเหล่านี้มีการดำเนินการเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงประกาศกำหนดให้เป็น Eco-Garden City เช่น มีการจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ และแผนปฏิบัติการ (Action plan) มีระบบการจัดทำพื้นที่สีเขียวในเมือง (Urban green space system) การจัดและปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เชิงธรรมชาติและการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติในเมืองสำหรับประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการสร้างเมือง Eco-Garden City และการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ นโยบายรัฐบาลด้านการวางแผนพัฒนาเมืองเชิงนิเวศและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล เป็นต้น