ตึกสูงระฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (net-zero energy) แห่งแรกของโลก มีชื่ออาคารว่าเพอร์ทามิน่าเอ็นเนอร์จี้ทาวเวอร์ (Pertamina Energy Tower) กำลังจะถูกสร้างขึ้น ณ ศูนย์กลางของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 2019 อาคารนี้จะเป็นอาคารที่มีความสูง 99 ชั้น และทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทพลังงานระดับประเทศชื่อว่า "เพอร์ทามิน่า" นอกจากนี้ ยังจะมีคนทำงานที่อาคารดังกล่าวจำนวน 20,000 คน และจะเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยที่มีมัสยิด ศูนย์กีฬา และหอประชุมสำหรับแสดงงานศิลปะที่มีความจุถึง 2,000 ที่นั่ง
ตัวอาคารมีรูปร่างเหมือนกรวย ทางด้านบนของอาคารจะมีลักษณะเปิด เพื่อดักลม และดูดลมเข้าภายใน เพื่อช่วยในการทำงานของกังหันลมที่ถูกติดตั้งไว้ในแนวตั้ง ซึ่งจะผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในอาคารได้ 25%
ที่น่าแปลกคือ ภายนอกอาคารมีลักษณะโค้งไปตามเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากกรุงจาการ์ตาตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี ทั้งสองด้านของอาคารจะมีบานหน้าต่างที่ช่วยบังแสงแดดโดยมีผ้าม่านระบบไฟฟ้าที่จะควบคุมแสงที่เข้าสู่อาคาร และช่วยปกป้องอาคารจากแสงจ้า และความร้อนจากดวงอาทิตย์ และมีระบบระบายความเย็นแทนการใช้ครื่องปรับอากาศ
อาคารอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย จะถูกปกคลุมด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แต่โรงงานผลิตไฟฟ้าส่วนกลางที่ให้พลังงานทั่วทั้งบริเวณนั้นได้มาจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญในประเทศอินโดนีเซีย หลังคาทางเดินที่คดเคี้ยวอยู่ทั่วมหาวิทยาลัยเรียกว่า “ริบบิ้นพลังงาน” ช่วยในการป้องกันแสงแดดและฝน และสร้างพลังงานจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่อยู่บนหลังคา ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอาคารโดยเป็นสะพานข้ามพื้นดินและสวนหย่อม
อาคารเพอร์ทามิน่าได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซียที่แสดงความมุ่งมั่นไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทสถาปนิกที่อยู่เบื้องหลังการสร้างนี้คือ สกิดมอร์ วิงส์แอนด์เมอร์ริล (Skidmore, Owings & Merrill) ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 75 ปีและเป็นที่รู้จักกันดีในด้านการรวมเอานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและความยั่งยืนมาใช้งาน ตัวอย่างผลงานของบริษัทนี้ เช่น Greenland Group Suzhou Center ในประเทศจีน มีผลงานการสร้างตึกสูง 30 ชั้น และใช้พลังงานร้อยละ 60 ซึ่งน้อยกว่าตึกสูงทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีอาคารสนามบินมุมไบแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า GVK ChhatrapatiShivaji International Airport (Terminal 2) ซึ่งใช้ระบบการติดตั้งกระจกคุณภาพสูงที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพด้านความร้อนและช่วยลดแสงจ้า สำหรับแผงเหล็กเจาะรูบนผนังกำแพงม่านของเทอร์มินัลนั้นจะกรองแสงแดดจากมุมต่ำทางตะวันตกและตะวันออก สร้างพื้นที่ที่มีแสงสบายตาให้กับผู้โดยสารที่กำลังรอเที่ยวบิน และยังมีระบบควบคุมแสงธรรมชาติที่คอยปรับสมดุลระดับแสงภายนอกและภายในอาคารเพื่อประหยัดพลังงานอีกด้วย นอกจากนี้ ช่องรับแรงบนหลังคาที่มีการติดตั้งอย่างเหมาะสมตลอดทั้งพื้นที่เช็คอินนั้นจะลดการใช้พลังงานภายในเทอร์มินัลถึง 23%
สก๊อตต์ ดันแคน (Scott Duncan) นักออกแบบชั้นนำ กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก สำหรับสถาปนิกและวิศวกรที่สกิดมอร์วิงส์แอนด์เมอร์ริลจะทำงานบนตึกสูงและในสถานที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่องพลังงานเป็นหลัก”
“ในอดีต อาคารที่มีความสูงมากเป็นพิเศษจะให้ความสำคัญกับความท้าทายด้านโครงสร้าง เช่น แรงต้าน แรงโน้มถ่วง และแรงดันผนังด้านข้างที่เกิดจากแผ่นดินไหวและแรงลม แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการให้ความสำคัญด้านปัญหาการใช้พลังงานสำหรับคนในยุคของเรา”
ที่มา: