กรุงสต็อกโฮม (Stockholm)
ประเทศสวีเดนเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งที่มีการดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และการรักษาระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืน (Ecological Sustainability) อย่างจริงจังทั้งในระดับนโยบายของรัฐและการปฏิบัติ ดังนั้นจึงมีการพัฒนากรุงสต็อกโฮมซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด หรือพัฒนาเป็นเมืองเชิงนิเวศ (Eco-City) โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำระบบอินเทอร์เน็ต
การสื่อสารและสารสนเทศมาสนับสนุนการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนที่อยู่อาศัยในเมือง และพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะขึ้น (Smart City) กล่าวคือ เป็นการพัฒนาเมืองที่มีการนำเอาระบบดิจิตอล วัฒนธรรม และการสร้างสรรค์แบบอัจฉริยะ มาช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมืองให้ มีความสะดวกสบายมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งด้านการทำงาน การเดินทาง การประกอบธุรกิจและการอุปโภคบริโภคของผู้อาศัยในเมือง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยที่ใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด ควบคู่กับการสร้างมลพิษและขยะมูลฝอยให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ความเป็นมาการเป็นเมืองเชิงนิเวศ (Eco-City) ของกรุงสต็อกโฮม
กลางศตวรรษที่ 19 กรุงสต็อกโฮมได้กลายจากเมืองเล็กๆ เป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น อีกทั้งยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการเติบโตที่รวดเร็วของประชากร บ้านเรือน และมีการจ้างงานจำนวนมาก โรงงานผลิตไฟฟ้าจากแก๊สเริ่มกิจการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1853 และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเริ่มในปี ค.ศ. 1861 และมีระบบำบัดน้ำเสียในช่วงปี ค.ศ. 1860 – 1869 ในขณะที่ท่าเรือของกรุงสต็อกโฮม ก็ยังเป็นท่าเรือที่ใช้ในการขนส่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมหนักของเมืองและขนย้ายผู้คนด้วยเรือ ต่อมาในปีค.ศ. 1866 มีระบบขนส่งด้วยราง และปีค.ศ. 1871 กลายเป็นสถานีหลักในการคมนาคมขนส่ง
ยุคต้นศตวรรษที่ 20 กรุงสต็อกโฮมยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ได้มีปัญหาบางประการเกิดขึ้นกับการจัดการเมืองและที่อยู่อาศัยที่ไม่พอเพียงต่อความต้องการของประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลจึงมีแผนที่จะใช้พื้นที่นอกเขตกำแพงเมือง ในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 20 รัฐบาลได้จัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการจัดการด้านที่อยู่อาศัย โดยมีการสร้างตึกเพื่อเป็นอพาร์ตเม้นและมีนโยบายให้สร้างบ้านใหม่ที่มีขนาดเล็กลง
รัฐบาลได้สร้างเมืองที่ทันสมัยขึ้นคล้ายกับเมือง Aspudden, Midsommarkransen and Älvsjö ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงสต็อกโฮม โดยให้ชื่อว่า การ์เด้น ซิตี้ (Garden Cities) มีประชากรไม่หนาแน่น ไม่มีตึกสูง มีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ การเดินทางถูกแทนที่ด้วยโครงข่ายรถราง เริ่มในปี ค.ศ. 1911 ต่อมาระบบรถรางได้ถูกขยายไปยังเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง
แนวความคิดใหม่ของการวางผังเมืองในช่วงปีค.ศ. 1930 – 1939 รูปแบบของสถาปัตยกรรมถูกรวมเข้าด้วยกันเหมือนสมัยหลังสงครามในยุโรป ซึ่งสถาปนิกและนักผังเมืองของกรุงสต็อกโฮมให้ความสนใจมาก กรุงสต็อกโฮมในขณะนั้นเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น สกปรกและเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ในปีค.ศ. 1930 50 เปอร์เซ็นต์ของบ้านในกรุงสต็อกโฮม เป็นบ้านที่มีห้องเดียว อพาร์ตเม้น ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัว ดังนั้นรูปแบบของพื้นที่อยู่อาศัยแนวใหม่ควรมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยลดลง และต้องมีพื้นที่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้มากขึ้น บ้านถูกแทนที่ด้วยตึกและให้แสงส่องเข้ามาถึงภายในตัวอพาร์ตเม้นมากขึ้น
ยุค 1940 – 1959 เป็นยุคของการวางแผน วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1941 รัฐสภากรุงสต็อกโฮม ได้ตัดสินใจให้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน กรุงสต็อกโฮมเป็นเมืองแรกจากหลายเมืองที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรเท่าๆ กัน ที่มีระบบรถไฟใต้ดิน 9 ปีต่อมา คือในปีค.ศ. 1950 เส้นทางแรกได้เปิดให้ใช้บริการ เป็นเส้นทางระหว่าง Hökarängen ถึง Slussen และในปีต่อๆ มา ระบบรถไฟใต้ดินได้ขยายไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของเมือง
แนวทางใหม่ในการจัดการผังเมืองไม่เพียงแค่เป็นการออกแบบที่อยู่อาศัย แต่เป็นการรวบการดำเนินชีวิตหรือ life style เข้าด้วยกันในสังคมที่เล็กลง โดยมีชื่อว่า ABC-model นักวางผังเมืองได้ออกแบบหนึ่งชุมชนต่อหนึ่งสถานีรถไฟใต้ดิน ประกอบด้วย ธุรกิจท้อถิ่น โรงเรียน ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น ตัวอย่างเมืองที่มีการดำเนินการตามแบบ ABC-Model ได้แก่ Väl ¬ lingby, Bagarmossen และ Blackeberg
การโตขึ้นของเมืองในช่วงปีค.ศ. 1960 – 1979 จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า ตั้งแต่ปีค.ศ. 1960 กรุงสต็อกโฮมมีประชากรที่หนาแน่น และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแผนที่จะมีการขยายเมืองให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจึงได้เกิดขึ้น และอนุญาตให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่นอกเมืองได้ การเพิ่มขึ้นของการจราจรทำให้ความต้องการพื้นที่คมนาคมสูงขึ้นด้วย ในปีค.ศ. 1965 ทางด่วน Essingeleden จึงได้เกิดขึ้น และเปิดให้ใช้งานในปีค.ศ. 1966 โดยมีเส้นทางผ่านเมือง Centralbron
บ้านและตึกอพาร์ตเม้นถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว วิสัยทัศน์ของการมีชุมชนท้องถิ่นที่เล็กลงได้มีการเตรียมพื้นที่ให้กับการเติบโตของคนรุ่นต่อไปด้วย รัฐบาลสวีเดนได้ออกแผนการสร้างบ้านให้ได้ 1 ล้านห้อง (อพาร์ตเม้น) ภายใน 10 ปี และเรียกโครงการนี้ว่า Million Program ในปีค.ศ. 1966 มีการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตพื้นที่ Tensta และ Rinkeby ทางตอนเหนือของกรุงสต็อกโฮม
ยุควิกฤตน้ำมันผลักดันให้เกิดการเฝ้าระวังใหม่ๆ วิกฤตน้ำมันเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1973 ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ในสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเรื่องของการขาดแคลนพลังงาน จึงได้เกิดมาตรฐานด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1970 - 1979 โดยมีการปรับปรุงรูปแบบอาคารโดยให้มีหน้าต่างเล็กลง และปรับปรุงฉนวนกันความเย็น และเป็นช่วงเวลาที่มีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (recycling) ได้เกิดขึ้น
ช่วงปีค.ศ. 1980 – 1999 จากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วได้หยุดชะงักลง มีพื้นที่บางส่วนที่ไม่สามารถแตะต้องได้ และเป็นที่แน่ชัดว่าเมืองต้องการการเติบโตในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ปัญหาที่ถูกพบคือ เมืองอุตสาหกรรมเก่าที่รกร้าง ควรนำมาปรับปรุงและใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเล
พื้นที่รถรางเก่าภายในเมือง Södermalm ถูกสร้างและปรับปรุงให้เป็นร้านอาหาร และมีสวนสาธารณะอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และมีสถานีรถไฟใต้ดิน Södra Station สายใหม่อยู่ในพื้นที่ ที่พร้อมใช้งานในปีค.ศ. 1985 ตึกจะไม่สูงเหมือนในกรุงสต็อกโฮม จะถูกกำหนดให้ไม่เกิน 6 – 8 ชั้น มีพื้นที่สำหรับศูนย์การค้า และพื้นที่สำหรับธุรกิจท้องถิ่นที่จะอยู่บนชั้นบนสุดของอาคารเก่า และมีอีกหลายโครงการที่คล้ายกับโครงการนี้จะเกิดขึ้นรอบๆ กรุงสต็อกโฮม และมีการสร้างอพาร์ตเม้นกว่า 2,000 ห้องในช่วงปี 1990 – 1999 เมืองท่าเล็กๆ อย่าง Hammarby เริ่มทรุดโทรม ดังนั้นในปีค.ศ. 1991 รัฐบาลตัดสินใจว่า ดินแดนอุตสาหกรรมเก่าแห่งนี้ ควรจะเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มมีแรงบันดาลใจในการสร้างเมืองรูปแบบใหม่ที่เป็นเมืองที่ยั่งยืนให้กับนักวางผังเมือง
กรุงสต็อกโฮมในวันนี้ กรุงสต็อกโฮมได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสีเขียวและสีฟ้า หรือเรียกว่า Green and Blue City เนื่องจาก
เป็นเมืองที่มีสวนสวนสาธารณะอยู่ใจกลางเมือง (The Royal National City Park) มีพื้นที่ครอบคลุม 27 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา และร้านอาหาร 23 แห่ง พระราชวัง 4 แห่ง และ โรงแรม 2-3 แห่ง รวมทั้งมีการจัดนิทรรศกาลต่างๆ บริเวณ The Royal National City Park
น้ำสะอาด (Clean Water) ทุกคนสามารถว่ายน้ำในใจกลางเมืองได้ อีกทั้งน้ำที่อยู่นอกบริเวณ City Hall ก็สามารถดื่มได้ด้วย กรุงสต็อกโฮม ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อย 14 เกาะ มีกิจกรรมทางน้ำหลายอย่าง เช่น ว่ายน้ำ พายเรือแคนนู และตกปลา โดยเฉพาะพื้นที่รอบๆ พระราชวัง เป็นพื้นที่เหมาะต่อการตกปลาแซลมอน
ที่พักสีเขียว (Green Stays) กรุงสต็อกโฮมเป็นเมืองที่มีโรงแรมได้รับ eco-labeled มากที่สุดในโลก และมี 2-3 แห่งที่มีการทำ carbon-neutral และการวางผังเมืองของกรุงสต็อกโฮมยังเป็นเมืองที่เดินทางสะดวกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นวัตกรรมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงสต็อกโฮม เป็นการดำเนินงานที่เป็นขั้นเป็นตอนและอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นความร่วมมือของประชาชนท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และธุรกิจที่อยู่โดยรอบ
สิ่งสำคัญในการดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองคือ การจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับการดำเนินงานทุกอย่างของเมือง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา และธุรกิจภายในเมืองก็ต้องดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน
ระบบความร้อนที่ยั่งยืน กรุงสต็อกโฮมเป็นเมืองที่มีระบบเครือข่ายความร้อนที่ใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจาก 70 เปอร์เซ็นต์ ของที่พักอาศัยถูกเชื่อมโยงด้วยระบบทำความร้อนเดียวกัน เชื้อเพลิงชีวภาพถูกใช้ในกระบวนการผลิตความร้อน และมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะนี้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการผลิตความร้อนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 593,000 ตันต่อปี การขนส่งที่ยั่งยืน
โครงการยานยนต์สะอาดเริ่มโครงการเมื่อปีค.ศ. 1995 และมีการดำเนินการรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปีค.ศ. 2007 รถยนต์ทุกๆ 5 คันที่ถูกขายไป จะเป็น eco-car และรถโดยสารประจำทางสาธารณะทุกคันขับเคลื่อนด้วยก๊าซชีวภาพและเอทานอล นอกจากนี้ 50 เปอร์เซ็นต์ของรถบรรทุกกากของเสีย และ 40 เปอร์เซ็นต์ของแท็กซี่เป็นระบบไฟฟ้าและไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles: HEV) สนามบินในกรุงสต็อกโฮม (Stockholm-Arlanda Airport) เป็นสนามบินแรกที่ได้รับการรับรองสูงสุดด้านคาร์บอน จาก Airport Carbon Accreditation โดยภายใน 4 ปี สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ครึ่งหนึ่ง และแท็กซี่ภายในสนามบินจะต้องเป็น eco-car เท่านั้น
ระบบขนส่งสาธารณะภายในเมืองประกอบด้วยรถไฟใต้ดิน รถราง รถไฟฟ้า รถประจำทาง และเรือเฟอรรี่ ทำให้สะดวกในการเดินทางถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบ ทุกวันนี้มีผู้ใช้ระบบสาธารณะกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เมืองได้ลงทุนสร้างเลนจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีเลนจักรยานยาวถึง 760 กิโลเมตรที่อยู่ภายในตัวเมือง และมีจักรยานสาธารณะ 1,000 คันพร้อมให้เช่าในพื้นที่ 73 จุด
ข้อสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ (The Climate Pact) และการดำเนินการร่วมกัน กรุงสต็อกโฮมได้จัดตั้งเครือข่าย The Climate Pact เมื่อปีค.ศ. 2007 เป็นความร่วมมือของชุมชนธุรกิจท้องถิ่น โดยสมาชิกให้คำมั่นสัญญาร่วมกัน เพื่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และเพื่อลดการใช้พลังงานของเมืองลง 10 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปีค.ศ. 2008 – 2010 และในพฤษภาคม ปีค.ศ. 2009 มี 60 บริษัท เข้าร่วมกับเครือข่าย
การเติบโตด้านเทคโนโลยีสะอาด ในส่วนเทคโนโลยีสะอาดของกรุงสต็อกโฮม ประกอบด้วย 3,000 บริษัท และพนักงานประมาณ 25,000 คน ซึ่งเทคโนโลยีสะอาดของเมืองประกอบด้วย การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน ระบบบำบัดน้ำ การเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นพลังงาน เชื้อเพลิงทางเลือก และระบบโครงสร้างต่างๆ ของเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บุกเบิกระบบสารสนเทศสีเขียว (Green IT) กรุงสต็อกโฮมเป็นเมืองที่มีระบบโครงข่ายไฟเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท Stokab เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปีค.ศ. 1994 เป็นระบบโครงข่ายโครงสร้างดิจิตอลที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือเรียกว่าระบบสารสนเทศอัจฉริยะ ประกอบด้วย การบริการต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กุญแจดิจิตอล และระบบงานบริหารทั่วไป เช่น คนขับรถไม่ต้องหยุดรถเมื่อจ่ายภาษี เป็นต้น
เป้าหมายด้านสิ่งแวดลอ้มของกรุงสต็อกโฮม คือ
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 3 ตันภายในปีค.ศ. 2015
- ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปีค.ศ. 2050
- อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ในกรุงสต็อกโฮมต้องได้รับการรับรองสีเขียว (Green certification)
กรุงสต็อกโฮมในอนาคต รัฐบาลพัฒนา Stockholm Royal Seaport ในยุค 1990s หรือช่วงปี ค.ศ. 1990 – 1999 ให้เป็นตัวอย่างเมืองอัจฉริยะที่ทำการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิมของกรุงสต็อกโฮมที่มีการขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว โดยการจัดทำเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประมาณ 12,000 หลังและสำนักงาน 35,000 แห่ง (ดังรูปที่ 11-4) ทั้งนี้มีเป้าหมายให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่ำกว่า 1.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อปีในปี ค.ศ. 2020 และไม่มีการใช้พลังงานฟอสซิลเลยในปี ค.ศ. 2030 โดยจะพยายามลดการใช้พลังงานต่างๆ ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ระบบการคมนาคมขนส่งและที่อยู่อาศัยให้เหลือน้อยที่สุด กล่าวคือ จะนำระบบอัจฉริยะ (Smart system) มาสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการสร้างบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ซึ่งจะมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม การสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยในครัวเรือน และการขนย้ายขยะมูลฝอยด้วยระบบสูญญากาศทางท่อ การจัดทำระบบขนส่งสาธารณะ และการจัดทำช่องจราจรรถจักรยาน เป็นต้น ทั้งนี้จะใช้กลไกราคาในการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง