Minamata Eco-Town

เมืองมินามาตะเป็นเมืองเล็กๆทางตอนใต้ของเกาะคิวชูมีพื้นที่ ๑๖๓ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีประชากรประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนหรือคิดเป็นครัวเรือนคือ ๑๒,๐๐๐ ครัวเรือน มินามาตะนับเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ชัดเจนของเมืองที่ได้รับผลกระทบด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเนื่องมาจากโรคมินามาตะ กรณีของเมืองมินามาตะนั้นเป็นลักษณะเมืองอุตสาหกรรมเล็กๆซึ่งมีเพียงโรงงานอุตสาหกรรมหลักแห่งเดียวที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมคือบริษัทชิสโซ (Chisso) ที่ตั้งขึ้ในปี ๑๙๐๘

          ปี ๑๙๐๘ บริษัทชิสโซ (Chisso) เข้ามาตั้งโรงงานของบริษัทชิสโซแม้จะส่งผลดีในด้านการจ้างงานชาวมินามาตะกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดและส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีจากกิจการของบริษัทและภาษีเงินได้จากคนงานคิดเป็นกว่าร้อยละ ๕๐ ของภาษีที่ท้องถิ่นสามารถเก็บได้ทั้งหมดก็ตามแต่เมื่อชิสโซเริ่มมีการผลิตสารเคมี Acetaldehyde เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยา น้ำหอม และพลาสติกซึ่งสารดังกล่าวใช้ Mercury Sulfate เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาก็ส่งผลให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตทำให้โรงงานต้องปล่อยน้ำเสียดังกล่าวที่มีสารปรอทปนเปื้อนลงในบริเวณอ่าวมินามาตะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๑๙๓๒ เนื่องจากชาวมินามาตะส่วนใหญ่เป็นชาวนาและชาวประมงซึ่งมีอาชีพจับปลาในบริเวณดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลของสารปรอทที่ปนเปื้อนในน้ำทำให้สัตว์น้ำได้รับสารปรอทเจือปนด้วยดังนั้นเมื่อคนบริโภคสัตว์น้ำดังกล่าวจึงมีอาการแปลกๆ เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียประสาทการมองเห็น การได้ยิน การพูด บางรายถึงกับเป็นบ้า เป็นอัมพาตและเสียชีวิต ไม่เพียงแต่คนที่รับประทานสัตว์น้ำที่มีสารปรอทปนเปื้อนจะได้รับผลกระทบดังกล่าวทำให้ระบบประสาทถูกทำลายเท่านั้นแต่ผลของสารปรอทดังกล่าวยังส่งต่อไปยังทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สัตว์จำพวกแมวซึ่งกินปลาเป็นอาหารก็มีอาการไม่ต่างไปจากคนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวโดยลักษณะอาการคือจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้จึงเหมือนแมวที่เต้นระบำอยู่ตลอดเวลาจนทำให้บางครั้งมีผู้เรียกโรคมินามาตะว่าโรคแมวเต้นระบำ (Cat Dancing Disease)

ในตอนแรกที่โรคมินามาตะปรากฏขึ้นและยังไม่มีการค้นพบสาเหตุของโรคทำให้ผู้คนคิดไปว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อจึงส่งผลให้ชาวเมืองมินามาตะถูกกีดกันทางสังคมต่างๆนานาไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถไปทำงานที่อื่นได้หรือการไม่สามารถแต่งงานกับคนอื่นนอกชุมชนได้เพราะเกรงว่าจะติดโรคดังกล่าวเนื่องจากสามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ ปัญหาเหล่านี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบทางกายต่อชาวมินามาตะที่ต้องได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากโรคมินามาตะจนไม่สามารถพึ่งตนเองได้เท่านั้นหากแต่ยังส่งผลกระทบทางใจอย่างเจ็บปวดต่อชาวเมืองมินามาตะจากการถูกกีดกันจากคนนอกชุมชนด้วย

ในปี ๑๙๕๖ จึงมีการค้นพบสาเหตุของโรคโดยดร.ฮาจิเมะ โฮโซกาวา(Hajime Hosokawa)ซึ่งเป็นแพทย์ประจำของโรงพยาบาลบริษัทชิสโซว่าโรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการรับประทานสัตว์น้ำที่มีสารปรอทปนเปื้อนโดยต้นเหตุของการมีสารปรอทปนเปื้อนดังกล่าวมาจากการปล่อยน้ำเสียของบริษัทชิสโซจึงทำให้ข้อสงสัยเรื่องโรคติดต่อหมดไป อย่างไรก็ตามแม้ผลการศึกษาของดร.โฮโซกาวาจะยืนยันที่มาสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจนแต่ผลการศึกษาดังกล่าวก็ยังถูกละเลยมาช่วงระยะเวลาหนึ่งทำให้ไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันทีทั้งนี้เพราะรัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอมรับผลดังกล่าวด้วยเกรงว่าการยอมรับจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของเมืองมินามาตะโดยเฉพาะด้านรายได้จากภาษีเพราะชิสโซเป็นบริษัทใหญ่ที่สร้างรายได้ให้แก่เมือง ส่วนบริษัทชิสโซนั้นก็หันไปทิ้งน้ำเสียลงในแม่น้ำมินามาตะแทนเพื่อหวังลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นน้ำเสียที่บริษัทชิสโซปล่อยลงแม่น้ำมินามาตะนั้นไหลผ่านฮาจิมอนลงไปสู่ทะเลชิรานุอิทำให้ไม่กี่เดือนต่อมาชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวจึงเริ่มได้รับผลกระทบจากอาการแปลกๆที่ไม่ต่างจากโรคมินามาตะ รัฐบาลคุมาโมโตะจึงสั่งห้ามชาวประมงขายสัตว์น้ำที่จับได้จากบริเวณดังกล่าว แต่ไม่ห้ามชาวบ้านบริโภคสัตว์น้ำที่จับได้จึงทำให้ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากโรคมินามาตะอยู่เพราะสัตว์น้ำยังคงเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านอยู่ ขณะเดียวกันดร.โฮโซกาวาก็แอบทำการทดลองลับๆกับแมวและประกาศผลที่แน่ชัดว่าชิสโซเป็นต้นเหตุของโรคมินามาตะ แต่หลังจากนั้นดร.โฮโซกาวาก็ถูกห้ามไม่ให้ทำการทดลองใดๆอีก แม้บริษัทชิสโซเริ่มที่จะตกลงกับผู้ที่เป็นเหยื่อของโรคมินามาตะแต่ก็ยังคงปล่อยน้ำเสียอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี ๑๙๖๘ ในที่สุดบริษัทชิสโซก็ถูกศาลบังคับให้ต้องหยุดปล่อยน้ำเสียและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เหยื่อที่เป็นโรคมินามาตะ

ผลจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนของบริษัทชิสโซทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคมินามาตะมากถึงเกือบ ๓,๐๐๐ รายและมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากถึง ๑,๗๑๐ ราย บทเรียนดังกล่าวไม่เพียงทำให้ชาวมินามาตะหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้นแต่ยังช่วยสอนให้ชาวญี่ปุ่นในเมืองอื่นๆและชาวโลกหันมาทบทวนถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ผ่านมาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใดเพราะหากเศรษฐกิจเติบโตอุตสาหกรรมแข็งแกร่งแต่ต้องแลกด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้คนบางกลุ่มอันเนื่องมาจากการพัฒนาที่เอามนุษย์เป็นที่ตั้งจนลืมคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวหาใช่ใครไม่แต่กลับเป็นมนุษย์เองและหากยังคงปล่อยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นต่อไปแม้วันนี้ปัญหาดังกล่าวจะยังไม่กระทบต่อเราโดยตรงแต่วันหนึ่งข้างหน้าผลของปัญหาย่อมคืบคลานมาสู่เราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทเรียนจากกรณีของมินามาตะได้กลายเป็นที่มาทำให้ญี่ปุ่นหันมาใส่ใจกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแทนการเน้นเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และกำไรอย่างที่ผ่านมา มินามาตะเองก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นเมืองอีโคทาวน์โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลกลางปี ๒๐๐๑ ในการส่งเสริมอีโคทาวน์เป็นลำดับที่ ๑๐ ในบรรดาอีโคทาวน์ทั้งหมดของญี่ปุ่น

กรณีศึกษาของมินามาตะนั้นพยายามที่จะเปลี่ยนจากเมืองที่เกิดโรครุนแรงทางมลพิษ (Pollution Plagued City) มาสู่เมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Model City) โดยเป็นตัวอย่างที่ดีของความเข้มแข็งของประชาชน(Community and Citizen-based)ในการระมัดระวังด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ต้องการเจ็บปวดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างอดีตที่ผ่านมาอีก เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองสิ่งแวดล้อมจึงมีการฟื้นฟูเมืองให้เป็นเมืองที่เน้นการรีไซเคิล (Recycle-oriented Town) การมีส่วนร่วมของประชาชนและวิสาหกิจต่างๆ

การฟื้นฟูเมืองมินามาตะ
โดยการนำของนายกเทศมนตรีซึ่งมีคณะกรรมการอีโคทาวน์ที่ประชุมเพื่อพูดคุยด้านสิ่งแวดล้อมกันทุกวันพุธที่ ๓ ของเดือน ในการฟื้นฟูเมืองเริ่มจาก
๑) การขุดลอกโคลนตะกอนที่มีสารปรอทปนเปื้อนในอ่าวมินามาตะในปี ๑๙๘๓ ซึ่งแล้วเสร็จในปี ๑๙๘๗
๒) มีการคัดแยกขยะซึ่งจำแนกเป็น ๒๓ ชนิดและการนำขยะที่คัดแยกกลับมาใช้ใหม่เป็นทรัพยากร ธุรกิจการรีไซเคิลของเสียต่างๆซึ่งได้แก่ ขวดแก้ว พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมัน ขยะจากเศษอาหาร ยางมะตอย และของเสียจากมนุษย์
๓) มีการตั้งพิพิธภัณฑ์โรคมินามาตะ (Minamata Disease Municipal Museum) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเตือนให้มนุษย์รู้ถึงพิษภัยจากปัญหามลพิษโดยหวังว่าจะเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายอย่างกรณีของเมืองมินามาตะขึ้นอีกในโลก โดยทุกวันที่ ๑ ของเดือนพฤษภาคมจะมีการประชุมเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโรคมินามาตะ และมีการสอนให้เด็กๆช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายหลักของมินามาตะอีโคทาวน์
๑) เน้นการร่วมมือจากหลายภาคส่วน (Multi-stakeholders Involvement)
๒) เน้นฐานชุมชน (Community-based Approach)
๓) แบบจำลองของเมืองขนาดกลาง (Model for Middle scale Cities) โดยมีแนวทางการพัฒนาเมืองที่เน้นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสวัสดิการบริเวณหน้าสถานีรถไฟมีร้านขายของที่ระลึกและเป็นแหล่งข้อมูลด้านอีโคทาวน์ของเมืองมินามาตะ

โรงงานรีไซเคิลของเมืองมินามาตะ ๓ แห่ง
๑) โรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
Act-B Recycle โรงงานนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ๑๙๙๙ และเริ่มดำเนินการรีไซเคิลในปี ๒๐๐๑ โดยมีทุนจดทะเบียน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เยน มีพนักงานประมาณ ๑๐๐ คน เป็นโรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ประเภทตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า และคอมพิวเตอร์ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการรีไซเคิลมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของประชาชนที่ไม่ใช้แล้วในแถบคิวชู เป็นโรงงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable Society) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Cooperation to Ensure the Development) ลดของเสียเพื่อสังคมแห่งการรีไซเคิล (Reduce Waste for Recycling-based Society) ประหยัดพลังงาน(Energy Saving) ลดมลพิษให้ต่ำที่สุด (Minimize Pollution) และสร้างคุณูปการแก่ชุมชน (Contribute to Community) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ลดของเสีย ลดที่ทิ้งของเสีย และลดการสร้างขยะ ๒) ใช้ทรัพยากรที่มาจากการรีไซเคิล ๓) การกำจัดขยะอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า การทิ้งขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละครั้งควรต้องจ่ายเงินเท่ากับต้นทุนในการเก็บขยะบวกกับต้นทุนในการรีไซเคิล
ลักษณะการรีไซเคิลของโรงงานนี้จะเน้นที่การนำเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ต้องการรีไซเคิลมาคัดแยกออกเป็นส่วนๆตามลักษณะของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตซึ่งโดยหลักก็คือ พลาสติก เหล็ก ทองแดง และแก้ว โดยหากส่วนใดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็จะนำมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่อไปในอนาคต ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรีไซเคิลดังกล่าวจึงไม่เพียงช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ซึ่งญี่ปุ่นเองมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่มีอยู่เท่านั้นหากแต่ยังช่วยลดปัญหาการหาแหล่งทิ้งขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เป็นเกาะอย่างญี่ปุ่นซึ่งมีพื้นที่จำกัดด้วยเช่นกันตัวอย่างทองแดงและอลูมิเนียมที่ได้จากการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

๒) โรงงานรีไซเคิลขยะจากเศษอาหาร
Environmental Technology Center เป็นบริษัทที่รับรีไซเคิลขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนโดยทางบริษัทมีรถไปดูดเศษอาหารที่ครัวเรือนคัดแยกไว้แล้วเพื่อนำไปอบแห้งแล้วทำให้กลายเป็นปุ๋ย โดยปุ๋ยที่ได้ก็จะถูกนำมาใช้ในการปลูกพืชจำพวกผักปลอดสารพิษเพื่อนำมาจำหน่ายในชุมชน หลักการดำเนินงานคือใช้รถดูดขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนโดยเป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเพราะไม่มีกลิ่นเหม็นจากขยะ ไม่รั่ว และไม่มีเสียงดัง (No Smells, No Leaks, No Noise) หลังจากนั้นจะนำขยะดังกล่าวมาที่โรงงานแล้วผ่านเครื่องอบแห้งทำให้ขยะเปียกในอัตราส่วน ๒๕.๕ กิโลกรัมกลายเป็นขยะแห้ง ๓.๕ กิโลกรัม และเมื่อหมักขยะที่อบแห้งดังกล่าวซึ่งไม่มีกลิ่นเหม็นไม่ฟุ้งกระจายใช้พื้นที่ไม่มากเป็นเวลาประมาณ ๑ เดือนก็จะกลายเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชปลอดสารพิษซึ่งสามารถนำมาขายได้อีกต่อหนึ่ง วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นขยะ แบคทีเรีย แมลงและเชื้อโรค รวมทั้งลดปัญหาในการต้องหาแหล่งทิ้งขยะแล้วการนำรถไปดูดเก็บขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนโดยตรงยังช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะด้วยเช่นกันและผลผลิตที่เกิดขึ้นซึ่งก็คือปุ๋ยยังสามารถนำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชได้อย่างครบวงจรกล่าวคือจากพืชกลับสู่พืชหมุนเวียนเป็นวัฏจักรต่อเนื่องไป

๓) โรงงานรีไซเคิลขวดแก้ว
Tanaka Shoten นั้นเป็นตัวอย่างของโรงงานรีไซเคิลเล็กๆในเมืองมินามาตะซึ่งเจ้าของโรงงานเป็นคนในท้องถิ่นใกล้เคียงที่มีความรักและปรารถนาดีต่อสิ่งแวดล้อมและต้องการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเป็นโรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการรีไซเคิลขวดแก้วประเภทต่างๆโดยขวดแก้วที่นำมาในโรงงานนั้นจะถูกคัดแยกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆคือ ๑) ประเภทที่ไม่ชำรุดเสียหายและมีปริมาณมากพอสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) จะใช้วิธีการนำมาล้างทำความสะอาดใหม่แล้วตรีตราเครื่องหมาย ® เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้ทราบว่าขวดดังกล่าวไม่ได้มาจากการผลิตใหม่แต่มาจากการนำกลับมาใช้ใหม่ ๒) ประเภทที่ชำรุดเสียหาย เช่น แตก ร้าว บิ่น หรือมีจำนวนไม่มาก เช่นขวดที่มาจากต่างประเทศซึ่งไม่มีผู้ผลิตต้องการจะนำมาบดแล้วดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆเพื่อใช้ประโยชน์ เช่นนำมาผสมกับยางมะตอยเพื่อทำเป็นทางเท้าซึ่งจะให้ความสวยงามระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟในยามกลางคืน นอกจากนี้ยังมีการนำมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะที่สวยงามต่างๆ เช่น แก้ว แจกัน โมบาย โคมไฟ เป็นต้น นับเป็นตัวอย่างการนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดีตัวอย่างที่ทำรายได้ให้กับของเสียคือการนำขวดแก้วมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากขวดแก้วที่ทิ้งเมื่อนำมาทำเป็นงานศิลปะสามารถขายได้ในราคาตั้งแต่ ๕๐๐เยนขึ้นไป

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,586