โครงการ Eco-Star Program ของเมือง Devens สหรัฐอเมริกา

ปีค.ศ. 2005 รัฐบาลและองค์กรองค์กรเอกชนได้เปิดตัว Eco-Star Program และ Eco-Industrial Networking Opportunities เพื่อลดความไม่เข้าใจกันระหว่างวิสาหกิจในพื้นที่ และทำให้วิสาหกิจตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอุตสาหกรรม

การส่งเสริมการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (By-products exchange) ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม และการจัดสร้างระบบรวมสำหรับการกำจัดของเสีย ศูนย์การแลกเปลี่ยนสิ่งพลอยได้จากโรงงาน บริการการรีไซเคิล ทั้งในระดับโรงงานและครัวเรือน

โครงการ Eco-Star Program มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นโดยมีการปรับปรุงพัฒนาและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสร้างความรับผิดชอบของธุรกิจในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Business Accountability) และการหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้าร่วมโครงการทั้งวิสาหกิจเอกชน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลข่าวสาร การจัดประชุมสัมมนา การจัดประชุมโต๊ะกลม การจัดนิทรรศการ และการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตเชิงนิเวศ (Davens Eco-Efficiency Center) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้โรงงานและวิสาหกิจได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็น EcoStar ซึ่งมีข้อพึงปฏิบัติและได้รับการประเมินความสำเร็จการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดรวม 25 เรื่อง ดังนี้ (1) นโยบายและวิสัยทัศน์องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม (2) มีทีมงานและเจ้าหน้าที่ประสานงาน EcoStar (3) การติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อมประจำปีและการกำหนดเป้าหมายการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (4) การจัดอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องกับ EcoStar (5) การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของวิสาหกิจ (6) การสนับสนุนและส่งเสริมซัพพลายเออร์ด้านสิ่งแวดล้อม (7) การให้ข้อมูลและการศึกษาแก่ลูกค้า (8) การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ (9) การอนุรักษ์และประหยัดการใช้น้ำ (10) การอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน (11) การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน (Green Building) (12) การลดการใช้สารมีพิษ (13) การนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ (Material reuse) (14) การรีไซเคิล (15) การออกแบบผลิตภัณฑ์ (16) การบรรจุหีบห่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ (17) การจัดซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (18) การออกแบบภูมิสถาปัตย์เชิงนิเวศ (19) การสนับสนุนการดูแลพื้นที่สำหรับสัตว์ป่าในพื้นที่ (20) การบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (21) การมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชน (22) การเดินทางและการขนส่ง (23) การให้คำปรึกษาแนะนำแก่วิสาหกิจอื่น (24) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน (Climate Change mitigation) และ (25) การกำหนดหรือสร้างมาตรฐานของตนเอง ทั้งนี้ วิสาหกิจที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ EcoStar จะต้องมีการดำเนินการหรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นไม่น้อยกว่า 15 เรื่อง และสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดยลำดับที่ 1- 10 เรื่องเป็นเรื่องบังคับที่จะต้องดำเนินการให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ นโยบายและวิสัยทัศน์องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ทีมงานและเจ้าหน้าที่ประสานงาน EcoStar การติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อมประจำปีและการกำหนดเป้าหมายการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การจัดอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องกับ EcoStar การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของวิสาหกิจ การสนับสนุนและส่งเสริมซัพพลายเออร์ด้านสิ่งแวดล้อม การให้ข้อมูลและการศึกษาแก่ลูกค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ การอนุรักษ์และประหยัดการใช้น้ำ การอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ในขณะที่เหลือจำนวน 5 เรื่องเป็นหัวข้อที่วิสาหกิจสามารถเลือกได้จากจำนวนหัวข้อที่เหลือ (ลำดับที่ 11-25)

โดยในแต่ละหัวข้อที่เลือกดำเนินการ จะมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณ กิจกรรมที่ต้องดำเนินการ หรือเอกสารรายงานต่างๆ ในปัจจุบันมีวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการ EcoStar รวมจำนวน 20 บริษัทจากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด 77 บริษัทที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25.97 ของจำนวนบริษัททั้งหมด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,595