Kitakyushu Eco-Town ทะเลเปลี่ยนสี

มืองคิตะคิวชูเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะคิวชูมีพื้นที่ 485 ตารางกิโลเมตรมีประชากร (ปี 2553) 980,000 คน กรณีของเมืองคิตะคิวชูนั้นเดิมเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญของญี่ปุ่นโดยเฉพาะการผลิตเหล็กในช่วงยุคทันสมัย (Modernization) โดยเป็นที่ตั้งของโรงงานเหล็กที่รัฐบริหารจัดการชื่อ Yahata Iron Works (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Nippon Steel Corporation) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียโดยนำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศจีน ในช่วงทศวรรษ 1950s-1970s

          ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงแต่หลังจากนั้นอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่นก็เริ่มถดถอยทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยเฉพาะกับจีนและเกาหลีทั้งนี้เนื่องมาจากผลของข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 และการที่คู่แข่งเริ่มใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิตทำให้ญี่ปุ่นเริ่มสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันประกอบกับการเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักอย่างอุตสาหกรรมเหล็กทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองคิตะคิวชูเลวร้ายลงเนื่องมาจากมลภาวะทางน้ำและทางอากาศอันเป็นผลมาจากการปล่อยควันและน้ำเสียจากโรงงานผลิตเหล็ก ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้อ่าวโดไค (Dokai Bay) ได้ชื่อว่าเป็นทะเลแห่งความตาย (Sea of Death) เพราะสีน้ำทะเลเปลี่ยนไปเป็นสีเหล็กเนื่องจากน้ำเสียจากโรงงานเหล็กที่ถูกปล่อยลงทะเล

การแก้ไขปัญหามลพิษของเมืองคิตะคิวชูนั้น เริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหาเริ่มตระหนักว่าหากปล่อยให้อุตสาหกรรมปล่อยควันพิษและน้ำเสียต่อไปเรื่อยๆอาจส่งผลกระทบถึงเด็กๆซึ่งเป็นลูกหลานของตนได้จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อวิจัยและศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีวัดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งเยี่ยมชมและวินิจฉัยโรงงานในย่านที่ตนอาศัยอยู่ว่าสามารถส่งผลต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของตนและครอบครัวอย่างไร หลังจากนั้นจึงส่งผลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นและหันมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไข

ปัญหาที่เกิดขึ้น

ต้นกำเนิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของคิตะคิวชู มาจากปัจจัยหลัก ๓ ประการ คือ
๑) การขายการผลิตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่มากเกินไป
๒) การขาดการควบคุมด้านมลภาวะที่เพียงพอ
๓) การไม่มีระบบการป้องกันที่เพียงพอ

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอีโคทาวน์โดยการเซ็นสัญญาเพื่อควบคุมมลพิษในช่วงทศวรรษ 1960s-1970s เพื่อเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากอุตสาหกรรมหนักมาสู่อุตสาหกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพขณะเดียวกันก็มีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม การดำเนินการเพื่อควบคุมมลพิษทางน้ำดังกล่าวทำโดยการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและของเสีย การควบคุมปริมาณมลพิษ การเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ก๊าซและน้ำเสียเกินมาตรฐานหากโรงงานใดปล่อยของเสียเกินมาตรฐานจะถูกสั่งปิดโรงงาน
การทำความสะอาดแม่น้ำและทะเลโดยการดูดตะกอนของเสียจากอ่าวโดไคในช่วง๑๙๗๔ -๑๙๗๖ เพื่อมาบำบัด รวมทั้งการฟื้นฟูสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการควบคุมมลพิษด้านอื่นๆด้วยคือเสียง กลิ่น และการสั่นสะเทือน

ปี ๑๙๗๕ นับเป็นปีที่คิตะคิวชูประสบผลสำเร็จในการวางมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและทางอากาศเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่สุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในคิตะคิวชู การดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนโดยใช้เงินไปกว่า ๘๐๔.๓ พันล้านเยน (๒๒๓,๐๐๐ล้านบาท)

ถึงแม้คิตะคิวชูต้องเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมข้างต้น แต่ก็สามารถจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ภายใต้ปรัชญาพื้นฐานของเมือง คือ สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อความสำเร็จและความมั่งคั่งอย่างแท้จริงและสืบทอดโดยคนรุ่นต่อไป (Creation of activity with true wealth and prosperity, inherit by future generations) การอยู่ร่วมกัน การสร้างสรรค์ร่วมกัน (Living together, creating together) พัฒนาเศรษฐกิจผ่านสิ่งแวดล้อมที่ดี (Developing economically through a healthy environment) และการสร้างความยั่งยืนของเมือง (Enhancing the sustainability of the city) โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เกิดจากการผลิตที่สะอาด (Cleaner Production) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Products) ซึ่งมีลักษณะคือ Eco-design Eco-materials และ Eco-products รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management) ที่ดีคิตะคิวชูกลับมาเป็นเมืองน่าอยู่อีกครั้ง

ถัดจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว เทศบาลนคร คิตะคิวชูได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนสู่เมืองนิเวศน์ (Eco Town) โดยกำหนดคำนิยามว่า “เมืองนิเวศ” หรือ“อีโคทาวน์” (Eco-Town) หมายถึง ชุมชนหรือเมืองที่มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า มีของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยมีภาคอุตสาหกรรม การผลิตเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน โดยการใช้เทคโนโลยีสะอาดตามหลักการ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของไตรภาคีจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน คิตะคิวชูจึงเป็นเมืองนิเวศน์ที่มีการบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุเหลือใช้อย่างครบวงจร ในรูปแบบของการประกอบธุรกิจจนเกิดเป็นพื้นที่หรือสังคมของการหมุนเวียนทรัพยากร

เมืองคิตะคิวชูในปัจจุบัน

คิตะคิวชูเป็นเมืองแรกที่ได้รับการอนุมัติแผนการดำเนินโครงการอีโคทาวน์ของญี่ปุ่นในปี ๑๙๙๗ โดยตามโครงการได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วนคือ

๑) Kitakyushu Eco-town Center ซึ่งตั้งขึ้นในปี ๒๐๐๑
เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่างๆด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะชน และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งเป็นศูนย์อบรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม คิตะคิวชูอีโคทาวน์จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวิชาการและการวิจัย (City of Academic and Research) เนื่องจากเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อพัฒนาความรู้และการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม
๒) Hibiki Recycling Complex
๓) Comprehensive Environmental Complex ซึ่งเป็นที่รวมของโรงงานรีไซเคิลต่างๆ เช่น โรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โรงงานรีไซเคิลกระป๋อง โรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติก โรงงานรีไซเคิลของเสียทางการแพทย์ โรงงานรีไซเคิลรถยนต์ เป็นต้น

ปัจจุบัน เมืองนิเวศน์คิตะคิวชูมีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดตามหลักการ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) ได้แก่การลดการใช้การใช้ซ้ำ และการแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่มากมาย ได้แก่
- โรงงานแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า คัดแยกชิ้นส่วนโทรทัศน์ เครื่องซักผ้าเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เพื่อให้ได้เศษแก้ว พลาสติก และโลหะ เพื่อการรีไซเคิล
- โรงงานรีไซเคิลหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์โดยแยกชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อการรีไซเคิลมาผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น
- โรงงานแยกชิ้นส่วนหม้อน้ำรถยนต์คัดแยก Ferrous metal และ nonferrous metal เพื่อส่งไปหลอมและทําให้บริสุทธิ์
- โรงงานแยกชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการใช้ซ้ำ (reuse) และรีไซเคิล
- โรงงานเตาเผาขยะชุมชน Kogasaki Incineration Facility เผาขยะชุมชนเพื่อนําความร้อนจากเตาเผาไปผลิตกระแสไฟฟ้าจากระบบไอน้ำร้อน และระบบผลิตไฟฟ้าร่วมจากแก๊ส
- โรงงานคัดแยกขวดพลาสติก แก้ว และกระป๋องโลหะ คัดแยกขยะประเภทขวดพลาสติก แก้ว และกระป๋อง ด้วยแรงงานคนร่วมกับเครื่องจักร
- โรงงานผลิตไม้เทียมจากเศษไม้และพลาสติก ใช้ไม้จากการรื้อบ้าน และเศษพลาสติก PP (Polypropylene) ผสมกันเพื่อใช้ในการผลิตไม้เทียม
- โรงงานแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้สํานักงาน คัดแยกชิ้นส่วนประเภทพลาสติกแก้ว อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า แผง IC มอเตอร์สายไฟ ฯลฯ เพื่อการใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
- การแสดงผลงานวิจัยภาคปฏิบัติการการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable plastic) นําเศษอาหารจากครัวเรือนมาหมัก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้
- การผลิตไฟฟ้าจากพลังลม (Hibikinada Wind Power Generation Facility) ใช้กังหันที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าติดอยู่ด้านหลังใบพัด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

เมืองคิตะคิวชูเปลี่ยนนิยามของเมือง จาก “ทะเลมรณะ” เป็น เมืองแห่งความเป็นผู้นําด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ โดยมีพื้นที่สําหรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการจัดการปัญหามลพิษให้แก่หน่วยงาน/องค์กร ระดับนานาชาติหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
๑)จัดทําเขตพื้นที่ Zero-carbon zone โดยการกําหนดเขตพื้นที่ เช่น เขตพื้นที่สีเขียว เขตห้ามก่อสร้างที่อยู่อาศัย เขตเฝ้าระวังการใช้คาร์บอนในครัวเรือน เขตที่อยู่อาศัยที่มีการคํานึงถึงการใช้คาร์บอนในอนาคต เขตสันทนาการ และเขตพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดธรรมชาติเป็นต้น
สถานที่สําคัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Eco Clubhouse Nafco Yahatahigashi store สถานีให้บริการก๊าซไฮโดรเจนสําหรับยานพาหนะ พิพิธภัณฑ์สิ่งแวดล้อม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มนุษย์และประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
๒)Kitakyushu Next Generation Energy Park มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจเรื่องพลังงานโดยการใช้พลังงานที่หลากหลายจากพลังงานทดแทนเช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และรณรงค์ให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานชนิดใหม่ โดยมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ โรงกําเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แหล่งกําเนิดไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเตาเผาขยะ แหล่งกําเนิดไฟฟ้าจากพลังงานลม
๓) กลยุทธ์สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การศึกษาและการวิจัยเบื้องต้น ณ Kitakyushu Science and Research Park
- การวิจัยเชิงเทคโนโลยี/การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ณ Practical Research Area
- การพัฒนาธุรกิจ ณ Hibiki Recycling Area
๔) Kitakyushu Eco-Town Project
เทศบาลนครคิตะคิวชูได้พัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงปฏิบัติการ (Practical Research Area) โดยการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นิยาม “Resource recycling society” เน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างประชาชนในพื้นที่ผู้ประกอบการ และหน่วยงานราชการ กําหนดเป็นกลยุทธ์ท้องถิ่นที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น โดยการใช้พื้นที่ว่างเปล่าในการก่อสร้าง Eco-Town บริเวณ Hibikinada area (Phase I ปี ๑๙๙๗ และ Phase II ปี ๒๐๐๒) มีโรงงานรีไซเคิลหลายประเภทเข้าร่วมโครงการ เช่น โรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติก (ขวด PET) โรงงานรีไซเคิลวัสดุสํานักงาน (เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องส่งโทรสารคอมพิวเตอร์ฯลฯ) โรงงานรีไซเคิลวัสดุจากครัวเรือน โรงงานรีไซเคิลรถยนต์เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Premium) เข้าร่วมโครงการด้วย เช่น ก๊อกประหยัดน้ำประหยัดพลังงาน (TOTO) Eco-Apartment ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในญี่ปุ่น (Shibauratokki) แผ่นแม่เหล็กประหยัดพลังงาน (Nippon Steel) เป็นต้น ซึ่งเทศบาลจะมีใบรับรองสินค้าและช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
๕)การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการสนับสนุนให้มีการบริโภคพลังงานแต่น้อย และมีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
๖)โครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน โดยการจัดหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งใน หลักสูตรการศึกษา การพัฒนาระบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฉนวนกัน ความร้อน การใช้วัสดุตกแต่งภายในด้วยไม้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การปรับปรุง ระบบระบายอากาศ เป็นต้น
๗)สถาบันการศึกษา/ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ได้แก่
- Environment Museum
- Eco Town Center
- Museum of Natural History & Human History
- Recycle Plaza
- Environment Museum of Water
- Itozu-no-mori- Zoological Park
- Yamada Green Zone and Park
- Hiraodai Countryside Park
- Electric Power Development
- Riverwalk (Energy saving, etc.)
- Wind Power Gerenation
- Sone Higashi Elementary School (Eco renovated school)
- Sone Tideland
- Terraced Rice Field in Ouma
- National and Quasi-National Parks

กลยุทธ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมของคิตะคิวชูอีโคทาวน์ที่สำคัญ ๓ ประการ
๑) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research and Human Resource Development)
๒) การศึกษาทดลอง (Experimental Studies) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม
๓) การทำให้เป็นการค้าหรือธุรกิจ (Commercialization)

การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของเทศบาลนครคิตะคิวชู
๑)มุมมองการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครคิตะคิวชู นโยบายการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครคิตะคิวชูเดิมเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นการกําจัด แต่ได้เปลี่ยนนโยบายเป็นกระบวนการที่ให้ความสําคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะมูลฝอยจากเดิมร้อยละ ๑๓ เป็นร้อยละ๒๕ ภายใน ๑๐ ปีด้วยการนําแนวคิดการลดการใช้การนํากลับมาใช้ใหม่ และการแปรรูปเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse Recycle) รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Purchasing) ทั้งนี้เทศบาลเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการคัดแยกขยะมูลฝอย และการใช้สินค้าที่สามารถนํามาแปรรูปใหม่ได้
๒)การรวบรวมและจัดเก็บขยะมูลฝอยของเทศบาลนครคิตะคิวชู เทศบาลนครคิตะคิวชูใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการดําเนินโครงการรณรงค์การคัดแยกขยะมูลฝอยในชุมชน โดยขอความร่วมมือจากประชาชนในการคัดแยกขยะ และในช่วงแรกเทศบาลให้บริการถุงขยะและคู่มือการคัดแยกขยะแก่ประชาชน จนประชาชนสามารถคัดแยกเป็นกิจวัตร หลังจากนั้น เทศบาลจึงคิดค่าถุงขยะซึ่งเทศบาลเป็นผู้ผลิตเอง โดยไม่คิดค่าบริการเก็บขนขยะมูลฝอย ทําให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะเพิ่มขึ้น และผลิตขยะน้อยลง เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อถุงขยะ
๓)การคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อการรีไซเคิลเทศบาลนครคิตะคิวชูรณรงค์ให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะมูลฝอย โดยให้รวบรวมในถุงที่เทศบาลผลิตเอง ซึ่งประชาชนสามารถซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปในอัตราตามขนาดของถุง ซึ่งหลังจากที่ประชาชนคัดแยกแล้ว ก็นําไปรวบรวมไว้ยังจุดที่กําหนด เพื่อเทศบาลจะได้จัดเก็บและรวบรวมไปยังโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะที่มีการคัดแยกใส่ถุงเพื่อนําไปใช้ประโยชน์/กําจัด ได้แก่ขยะทั่วไปจากบ้านเรือน กระป๋องและขวดแก้ว ขวดพลาสติก (ขวด PET) และบรรจุภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ประชาชนสามารถนําขยะมูลฝอยอื่นๆ ได้แก่ กล่องอาหาร หลอดฟลูออเรสเซนต์และวัสดุที่เป็นโลหะ ไปรวบรวมบริเวณจุดที่ให้บริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า โดยเทศบาลไม่คิดค่าใช้จ่าย
๔)การจัดการขยะมูลฝอยในบ้านเรือนของชาวคิตะคิวชู
๔.๑ เนื่องจากเทศบาลนครคิตะคิวชูไม่ได้ให้บริการจัดเก็บขยะประเภทกระดาษ/หนังสือพิมพ์ประชาชนและบริษัทเอกชนจึงทําข้อตกลงกันร่วมกันในการจัดการขยะดังกล่าว โดยนําขยะมาวางไว้ในภาชนะที่บริษัทเอกชนเตรียมไว้เพื่อนําไปรวบรวมและขนส่งไปรีไซเคิลต่อไป
๔.๒ ชาวคิตะคิวชูมีการลดปริมาณขยะอินทรีย์โดยการทําปุ๋ยหมักในครัวเรือน โดยเทศบาลมีการให้ความรู้แก่ประชาชนในการทําปุ๋ยหมักเพื่อนําไปใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือน
๔.๓ การจัดการขยะประเภทกิ่งไม้ใบไม้เศษหญ้า เทศบาลนครคิตะคิวชูให้บริการในการรวบรวมและเก็บขนขยะประเภทกิ่งไม้ใบไม้และเศษหญ้า โดยมีการประชาสัมพันธ์วัน เวลา และสถานที่ที่มีการรวบรวม เพื่อให้ประชาชนนําขยะดังกล่าวมารวบรวมตามที่กําหนด
๔.๔ นโยบายการลดการผลิตขยะในครัวเรือน เทศบาลนครคิตะคิวชูมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะมูลฝอยให้ได้ร้อยละ ๒๐ จึงมีนโยบายการลดการผลิตขยะในครัวเรือน โดยการกระตุ้นให้ประชาชนมีการคัดแยกและนําขยะกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักแก่คนในชุมชนในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่งนโยบายดังกล่าวสามารถลดปริมาณขยะได้ร้อยละ ๒๖(เปรียบเทียบปริมาณขยะมูลฝอยในปี ๒๐๐๓ ซึ่งมีขยะประมาณ ๑๒๗,๐๐๐ ตัน กับปริมาณขยะมูลฝอยในปี ๒๐๐๖ ซึ่งมีประมาณ ๙๔,๐๐๐ ตัน)
๕)แนวทางการลดปริมาณขยะมูลฝอยในอนาคต เทศบาลนครคิตะคิวชูมีแนวทางในการดําเนินการรณรงค์เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชน ดังนี้
๕.๑ รณรงค์ให้มีการนําถุงพลาสติกจากบ้านเมื่อไปซื้อของในตลาดหรือห้างสรรพสินค้า หรือปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
๕.๒ รณรงค์การเลือกซื้อสินค้าที่มีหีบห่อน้อยชิ้น
๕.๓ รณรงค์การเลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนํากลับมาใช้ประโยชน์ได้
๕.๔ รณรงค์การเลือกซื้อสินค้าที่มีระยะเวลาการใช้งานเป็นเวลานาน หรือซื้อสินค้าเฉพาะที่จําเป็นเท่านั้น
๕.๕ รณรงค์การไม่รับของที่ไม่จําเป็นทั้งหลายแม้ว่าจะเป็นของที่ได้รับมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ตาม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
โทร. 02-202-4000, 4014 โทรสาร 02-354-3390

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
179,585