ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและอย่างก้าวกระโดด ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วโดยไม่มีมาตรฐานการประกอบการที่เหมาะสม เมืองมีการขยายตัวโดยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง การจัดหาแหล่งน้ำและประปา การจัดหาพลังงานไฟฟ้า และอื่นๆ อย่างเพียงพอ มีการนำพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมไปใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมการพาณิชย์และที่อยู่อาศัยโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และการลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเชื่อมโยงต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างกว้างขวาง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่ละด้าน โดยอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีการบูรณาการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อเนื่องกัน และเป็นผลกระทบที่สะสมรุนแรงจาก การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบที่ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรขนส่งในชั่วโมงเร่งด่วนในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่นหรือมีเขตประกอบการขนาดใหญ่ เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยจากมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และจากโลหะหนัก ที่พบในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น เกินความสามารถในการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เป็นต้น

การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรม ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและเกิดปัญหาสังคมตามมา ซึ่งทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหาทั้งสองด้านดังกล่าวอย่างมาก การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยลำพังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาแต่ละด้านนั้นเป็นปัญหาสะสมและเชื่อมโยงกัน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลกับการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการปรับเปลี่ยนการผลิต จากที่เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นฐานการผลิต ไปสู่การผลิตที่เป็นการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี องค์ความรู้ นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคมชุมชน โดยในระยะแรกเป็นการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างบูรณาการ จากนั้นจึงสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมที่เกื้อกูลกัน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน