การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจีน
เวลานี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็มักได้ยินคำว่า Smart City อยู่เสมอ ทุกประเทศต่างอยากทำให้เมืองของตัวเองเป็นเมืองอัจฉริยะกันทั้งนั้น แนวคิดเมืองอัจฉริยะนี้ หมายถึง เมืองที่มีระบบการจัดการที่ชาญฉลาด มีประสิทธิภาพ มีเทคโนโลยีสารสนเทศแบบบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นสำคัญ
ผลการสำรวจเมืองอัจฉริยะ CITIES IN MOTION ปี 2557 (ค.ศ.2014) ของ IESE, Business School, University de Navarra ประเทศสเปน โดยสำรวจข้อมูลเมืองหลวงและเมืองใหญ่จำนวน 135 เมืองจาก 55 ประเทศ ในมิติด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค ผังเมือง เทคโนโลยี รัฐบาล ฯลฯ ผลสำรวจออกมาว่า "โตเกียว" เป็นแชมป์เมืองอัจฉริยะอันดับหนึ่ง ตามด้วยลอนดอน นิวยอร์ก ซูริค ปารีส เจนีวา บาเซิล โอซาก้า โซล และออสโล ในขณะที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยติดอันดับที่ 66 ส่วนเมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ อยู่อันดับที่ 62 และ 73 ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมืองจั่นเจียง (Zhenjiang) ในมณฑลเจียงซู (Jiangsu) ของจีนก็เช่นเดียวกัน อยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนาเพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต
มณฑลเจียงซูเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของจีน เป็นอีกมณฑลหนึ่งที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ “ใหญ่กว่า” เศรษฐกิจของไทยทั้งประเทศ โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกว่างตง แต่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากเป็นอันดับ 1 ของจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีการค้า ทั้งด้านการนำเข้าและส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของจีน และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นฐานทางอุตสาหกรรมชั้นนำของจีน และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศอีกด้วย
รูปแบบการพัฒนาเมืองจั่นเจียง มณฑลเจียงซูให้เป็นเมืองอัจฉริยะ เน้นเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารผ่านโครงข่ายไร้สาย 4G ต่อไปพลเมืองและนักท่องเที่ยวในเมืองจั่นเจียง จะสามารถเช็คตารางการเดินรถโดยสารประจำทาง นัดหมายแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ หาพื้นที่จอดรถว่าง หรือแม้แต่พื้นที่สำหรับรถจักรยานผ่านสมาร์ทโฟนได้
การพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ระบบการควบคุมการเดินรถโดยสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้คนสามารถวางแผนการเดินทางและกำหนดช่วงเวลารอคอยรถโดยสารได้แม่นยำผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ
นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายได้ราว 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมถึงลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกประการหนึ่งด้วย
การพัฒนาดังกล่าวสอดรับตามแผน 12th Five-Year Plan on smart cities projects ของจีน ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนงบประมาณของหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology: MOST) กระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองและชนบท (Ministry of Housing and Urban-rural Development) และเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะจีน (The China Smart City Industry Alliance) ร่วมด้วย คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ (The National Development ad Reform Commission) โดยงบประมาณจัดสรรในช่วงแรกนี้ ใช้งบราว 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา:
- http://www.masciinnoversity.com/?p=18790
- http://www.chinabusinessreview.com/smart-city-development-in-china/
- DDJ Consulting; www.ddj-consulting.com
- IESE, Business School, University de Navarra; http://www.iese.edu/research/pdfs/ST-0333.pdf
- http://www.chineselawclinic.moc.go.th/info/info_detail.php?idcont=26&idcontsub=397